วันพฤหัสบดีที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

กรรมะกับชีวิต : กรรมรักษา

กรรมรักษา ฟังดูไพเราะดี น่าจะมีความหมายที่ดี แต่คำว่า “กรรม” นั้นเป็นคำกลางๆไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีแต่อย่างไร คำว่า “กรรม” แปลว่าการกระทำ ซึ่งหมายถึงการกระทำทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว รวมเรียกว่ากรรมทั้งสิ้น และตัวการกระทำที่ก่อให้เกิดกรรมนี้ยังแยกย่อยออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ อีก คือ

กรรมที่เกิดจากการกระทำทางกาย กรรมที่เกิดจากการกระทำทางวาจา และกรรมที่เกิดจากการกระทำทางใจซึ่งหลายๆ ท่านก็คงทราบเป็นอย่างดีแล้วว่า นั้นคือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมนั้นเอง ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร แต่นี่คือ ต้นเหตุ ต้นเรื่อง ของการวนเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้นในโลกนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนตลอด 45 พระพรรษา ก็เรื่องใหญ่ 3 ข้อนี้เท่านั้น คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไม่ได้กล่าวอย่างอื่นนอกจากนี้เลย รวมเรียกว่า กรรม กฏแห่งกรรม วงเวียนกรรม สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และที่สุดสรุปถึงความไม่ประมาทในกรรมนั้นเอง เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราก็ควรสำรวมกาย วาจา และใจให้จงดีอย่าได้ประมาทในการกระทำของตนว่า คงไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น เพราะทุกอย่างที่เราทำถูกบรรทึกไว้อย่างละเอียดด้วยบัญชีกรรม ก้อเราอีกนั้นแหละที่จะได้รับทั้งต้นและดอกของผลกรรมนั้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เที่ยงตรง ยุติธรรมอย่างยิ่ง เราจะเป็นผู้เสวยกรรมทุกๆชาติที่เราเกิดจนกว่าจิตนี้จะเป็นผู้กระทำกรรมขาว กรรมสะอาดจึงหมดกรรม

กรรมดีจะส่งผลให้เราได้รับผลดี กรรมชั่วจะส่งผลให้เราได้รับผลชั่ว โดยที่ตัวกรรมไม่ได้ท้าวความแต่หนหลังให้เราได้ทราบล่วงหน้าว่า ต่อไปนี้ท่านจะต้องได้รับกรรมประเภทไหน พอรู้ตัวเราก็เสวยกรรมนั้นอยู่อย่างเอร็ดอร่อยแล้ว เป็นประเภทกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเสียด้วยวิ่งโล่หาวิธีแก้กรรมกันยกใหญ่ แต่ถ้าเราได้ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าเราก็จะอยู่กับกรรมทุกๆประเภทอย่างมีสติ และยิ้มได้อย่างเบิกบาน ปล่อยจิตว่าง และปล่อยวางกับความตึงเครียดต่างๆได้อย่างมีปัญญา แก้ไขปัญหาอย่างผู้มีสติและมีความหวัง ชีวิตทุกขณะลมหายใจเข้าออกเดินเรียบ เดินสะดวกไม่สะดุดกรรม บางท่านกำลังจะได้รับกรรมดีผลดีแต่กลับต้องเจออุปสรรคหรือต้องออกเหงื่อก่อนจึงจะได้รับความสำเร็จนั้นก็เพราะกรรมชั่วมาตัดรอนกรรมดี แต่บางท่านกำลังพบปัญหาใหญ่อุปสรรคมากมายเข้ามาย่ำยีชีวิต แต่แล้วกลับกลายเป็นดีได้อย่างน่าอัศจรรย์นั้นก็เพราะกรรมดีเข้ามาตัดรอนแรงกรรมชั่ว แล้วกรรมตัดรอนทั้งหลายเหล่านี้มาจากไหนน่ะหรือ ก็มาจากตัวเรานี้นั่นเอง ที่สร้างไว้มานับชาติไม่ถ้วน หมุนเวียนเปลี่ยนไปมาจนกว่าดวงจิตนี้จะเข้าสู่ความบริสุทธิ์แห่งธรรม จิตใสพิสุทธิ์ดั่งแก้วกัลปพฤกษ์ จิตของเราเดินเข้าสู่หนทางแห่งธรรมอันวิเศษ เมื่อนั้นกรรมทั้งหลายเป็นโมฆะ หมดแรงกรรม สิ้นแดนเกิด ออกจากวัฏฏสงสาร

เมื่อไหร่ท่านทั้งหลายจึงจะฉลาดในการสร้างกรรม มีปัญญาอันสว่างไสวนำพาดวงจิตของท่านเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเสียทีเจ้าคะ

- ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา พระตถาคต (ธรรม คือ อะไร) - ผู้ที่ยังประมาทอยู่ชื่อว่า “ผู้ไม่มีปัญญา”

ทุกวันนี้เราเป็นผู้กลัวกรรมเป็นอย่างยิ่ง “กรรม” คือการกระทำ ดังนั้นเราจึงเป็นผู้พิจารณากรรมก่อนกระทำกรรมใดๆลงไป เพื่อไม่เป็นผู้ประมาทในกรรม แล้วท่านหล่ะกลัวกรรมหรือยัง ผู้มีการกระทำที่ดีและหมั่นสร้างแต่กรรมดี ผู้นั้นย่อมได้รับผลของกรรมดีเป็นสิ่งตอบแทนในที่สุด ถึงแม้จะมีกรรมชั่วมาตัดรอนบ้างแต่ก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ไม่ประมาทในกรรมนั้น เนื่องเพราะอำนาจแห่ง คุณศีล คุณธรรมที่รักษาท่านนั้นเอง.

แก้วเกษม ศรัทธาโพธิธรรม

ใบมีดโกนคมบาดใจยังไม่เท่าความคมของน้ำคำบาดจิต

ความคมของใบมีดโกนนั้นมีความคมมาก เมื่อโดนบาดเนื้อย่อมเจ็บปวดและเกิดรอยแผลไว้ให้ดูต่างหน้า แต่ไม่นานวันความเจ็บปวดนั้นก็หายไป ส่วนความคมของน้ำคำที่เข้ามาบาดใจนี่สิเจ็บปวดยิ่งกว่า สร้างความทุกข์ทรมานให้กับเจ้าของจิตใจที่ถูกคมคำนั้นบาดได้ไม่รู้ลืม หลายสิ่งหลายอย่างในโลกใบนี้เกิดขึ้นและถูกทำลายลงในชั่วพริบตา แม้กระทั่งการทำลายชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา มีสาเหตุมากจากความคมของน้ำคำที่บาดใจทั้งสิ้น

ได้สมหวังในความรัก หรือ ได้รับความเกลียดชัง อาฆาตแค้น ก็เพราะต้นเหตุมาจาก “น้ำคำ” ทั้งสิ้นลองพิจาระณากันดู.

แก้วเกษม ศรัทธาโพธิธรรม

กรรมะกับชีวิต : เรื่องที่ 1 วิญญาณเกาะหลัง

เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันได้สนทนากับหญิงสาวท่านหนึ่งอายุน่าจะอยุ่ประมาณ 38 – 40 ปี เธอเป็นคนรูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาว เราสนทนากันหลายเรื่องจนกระทั่ง มาถึงเรื่องของสุขภาพ เธอเล่าว่า ประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมาเธอมีโรคประจำตัวอยู่โรคหนึ่ง คือ ปวดหลัง มันเจ็บมากขนาดไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้เลย เพราะหลังแข็งและเจ็บเข้าไปถึงหัวใจทีเดียว อาการนี้มักจะเป็นตอนตื่นนอน เธอต้องค่อยๆตะแคงข้างค่อยๆขยับตัวจนกว่าจะลุกขึ้นได้ และจะปวดอยู่อย่างนี้เกือบทั้งวันแต่อาการไม่รุนแรงเท่าตอนตื่นนอนใหม่ๆ พอเล่ามาถึงตอนนี้เธอก็กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเธอพบกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตมากมายจนท้อแท้ หัวใจอ่อนแอไปหมด จึงหันหน้าเข้าหาพระธรรม โดยเริ่มจากการหาบทสวดมนต์มาสวดทุกวัน ทั้งเช้าและก่อนนอน หมั่นทำบุญให้ทานมากขึ้น เริ่มศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมหรือเข้าวัดแต่อย่างใด การสวดมนต์คือสิ่งที่เธอถูกจริตที่สุด และทำอย่างมีใจจดจ่ออยู่ในพระคาถานั้น เริ่มด้วย บูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล 5 อิติปิโส ถวายพรพระ ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฏก ชินบัญชร บทสรรเสริญเจ้าแม่กวนอิม และแผ่เมตตาทั้งอย่างปกติ และอย่างยาวโดยเฉพาะบทแผ่เมตตาแบบของ แม่ชีทศพร แต่จุดสำคัญของเรื่องคือ

อาการปวดหลังของเธอหายไปอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ หลังจากที่ทำอย่างนี้ไม่นานเพียงอาทิตย์แรกๆเท่านั้น ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นเพราะอานุภาพของ การสวดมนต์แน่นอน เธอเล่าว่า วันหนึ่งเธอได้พบบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีจิตสัมผัสกับเรื่องวิญญาณได้ (เธอไม่ได้เล่าอาการปวดหลังของเธอให้เขาฟัง) เขาบอกเธอว่า มีวิญญาณมาเกาะอยู่ที่หลังของเธอนะ ในขณะนั้นสิ่งแรกที่เธอคิดคือ ต้องเป็นวิญญาณบิดาของเธอแน่นอนเพราะก่อนที่บิดาของเธอจะเสียชีวิตนั้น ท่านเป็นอัมพาตนอนนิ่งไม่สามารถจะขยับตัวได้ และก่อนที่บิดาของเธอจะเสียชีวิตเพียงไม่กี่วันเธอได้กลับบ้านไปเยี่ยมบิดา ที่ อำเภอ ปากช่อง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ และเห็นว่าบิดาคงอยากจะขยับตัวบ้างจึงยกบิดาขึ้นนั่ง เธอเห็นท่าทางและแววตาของท่านดูมีความสุขและตื่นเต้นที่ได้นั่ง หลังจากนั้น 2 -3 วันเธอก็ได้รับข่าวว่า บิดาตกจากที่นอนเสียชีวิตแล้ว จากเหตุการณ์นี้ทำให้เธอเสียใจมาก เพราะเธอคิดว่าตนเป็นต้นเหตุให้บิดาเสียชีวิต ญาติพี่น้องของเธอบอกว่า หลังจากวันนั้นที่เธอช่วยยกร่างของบิดาให้นั่งแล้ว บิดาของเธอก็พยายามสื่อบอกให้คนในบ้านยกท่านนั่งอีก แต่ไม่มีใครตามใจท่าน และสุดท้ายท่านคงพยายามที่จะลุกเองจึงทำให้ตกจากที่นอนและไม่มีคนเห็น พอมาพบก็สิ้นใจเสียแล้ว และนี่อาจเป็นจิตที่คิดถึงผูกพันธุ์กันก็ได้ จึงทำให้วิญญาณของบิดามาอยู่กับเธอ หญิงสาวคิดเช่นนั้น แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตุว่า วันไหนถ้าไม่สวดมนต์ หรือสวดมนต์แล้วไม่ครบถ้วนอย่างเคย หรือ ไม่แผ่เมตตา เช้าวันต่อมาหลังของเธอก็จะเจ็บขึ้นมาอีก บางครั้งมากกว่าเก่าเสียด้วย นั่นจึงเป็นเหตุให้เธอสวดมนต์ทุกวันไม่ขาด และเริ่มเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณ และกฏแห่งกรรม เธอบอกว่า เธอรักพ่อมาก และไม่โกรธพ่อเลย ดีใจเสียด้วยซ้ำไป ที่ได้มีส่วนช่วยเหลือพ่อ ได้แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้พ่อทุกวัน สงสัยและเสียใจอยู่เล็กน้อยเท่านนั้นเองว่า บุญกุศลที่เธอสร้างนี้จะช่วยให้พ่อของเธอพ้นทุกข์ได้เมื่อไร และเธอไม่รู้ว่าใครคือ เจ้ากรรมนายเวรของพ่อ ถ้ารู้เธอจะได้ช่วยแผ่เมตตาส่งไปให้ด้วย เพื่อพ่อจะได้ไปสุขคติพ้นจากกองทุกข์เสียที

ดิฉันบอกกับเธอว่า เมื่อเราเติมน้ำใสลงสู่น้ำขุ่นทุกวัน เติมแต่น้ำที่ใสสะอาดตลอดเวลาไม่มีวันหยุด ในที่สุดน้ำขุ่นในภาชนะนั้นก็จะกลายเป็นน้ำใสได้ แม้จะมีเศษฝุ่นตะกอนหลงอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อยเต็มที เช่นเดียวกับ กรรม เมื่อเราสร้างสมแต่สิ่งที่ดีๆ ที่สะอาดบริสุทธิ์ และศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง กรรมชั่วก็จะหยุดให้ผลไปเอง ที่เหลืออยู่คือ ความสงบร่มเย็น และความเป็นอิสระต่อกรรมนั้นๆ ขอธรรมจงรักษาผู้ประพฤติธรรมทุกท่าน.

เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม

วันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ไม่เห็นทุกข์ - ไม่รู้ธรรม

การมองเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต เหมือนที่เปรียบไว้ว่า ดวงตาเป็นดังแสงสว่างแห่งดวงประทีป ถ้าดวงตาดับมืดบอดลงนั่นหมายถึงโลกนี้ดับมืดลงด้วย ดังนั้นดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างยิ่ง ต้องระมัดระวังรักษาถนุถนอมอย่าให้เขาเจ็บป่วยหรือเกิดเสื่อมสภาพน้อยที่สุด การมองเห็นภาพต่างๆเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา เมื่อมีภาพเข้ามากระทบกับตาของเราภาพนั้นย่อมส่งผลทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นที่กายและใจของเราเสมอ การมองเห็นของตาเราทำให้เราเกิดมีความรู้สึกต่างๆ ทั้งที่สร้างความสุขและก่อให้เกิดความทุกข์กับจิตใจบางครั้งก็รู้สึกเฉยๆไปก็มี

ดังนั้น เราต้องฉลาดแยกแยะภาพต่างๆที่จะไปสะสมให้เกิดอารมณ์ที่ส่งไปสู่จิตนี่เป็นเรื่องสำคัญ การเลือกดูภาพที่ให้ความรู้สึกดีๆ กับกายและใจของเรา เป็นการอบรมชีวิตและวิญญาณให้อ่อนละมุน สุนทรี และเกิดความเมตตา การรู้จักคัดกรองในสิ่งที่ต้องพบเจอต้องมองเห็นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง จงมองสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มองสิ่งที่ให้โทษนี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ท่านคงคิดว่าถ้าพูดอย่างนี้ทำได้ยาก เพราะการมองเห็นเป็นเรื่องที่ต้องพบต้องเจอกับสิ่งทั้งหลายมากมาย ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเห็นอะไรพบอะไรไว้ล่วงหน้าได้ แต่ถ้าเราพิจารณาให้ลึกลงไปเรามีสิทธิที่จะเลือกสิ่งต่างๆที่ดีๆให้กับตัวเองได้ ไม่ใช่ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามเวรตามกรรมอย่างไร้จุดหมาย เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ถ้าเราไม่ปล่อยให้อารมณ์เป็นผู้นำ แต่เราควรอย่างยิ่งที่ต้องใช้สติ-สัมปชัญญะในการจัดสรรสิ่งต่างๆเพื่อตัวเราได้ และตัวสตินี้แหละที่ต้องฝึกฝนให้มาก ให้ชำนาญคือ ฝึกให้ตนมีสติเสมอ ตลอดเวลารู้ว่าตนทำอะไรอยู่ เช่น ขณะนี้เรายืนอยู่หน้าร้านหนังสือ มีหนังสือ นิตยสารมากมายวางเรียงรายอยู่เบื้องหน้า ทั้งชนิดที่เป็นวิชาการ บัญเทิง ข่าวสาร ขบขัน และหนังสือยั่วยุให้เกิดกิเลสตัณหาราคะที่วางจำหน่ายอยู่ดาษดื่นหรือแม้กระทั้งหนังสือธรรมะฯลฯ แต่ละชนิดยังแยกย่อยออกไปอีก ทั้งที่มีประโยชน์จริงและไม่ค่อยจะมีประโยชน์ เนื้อหาสาระแก่นสารไม่ค่อยมีแต่เอื้อประโยชน์ทางการค้าและยั่วยุให้หลงผิดนั้นมีมาก นี่ก้อต้องใช้วิจารณะญานให้มากๆในการเลือกซื้อ ทำไมจึงยกตัวอย่างเป็นเรื่องหนังสือ เพราะเหตุว่า หนังสือเป็นสื่อที่อยู่คงทนถาวรสามารถตกไปสู่มือหนึ่งๆได้จนชั่วลูกหลาน พกพาสะดวก จึงต้องยิ่งระวังให้มากเพราะถ้าเผยแพร่สิ่งไม่ดีโดยขาดสามัญสำนึก ขาดคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว นั่นก็หมายถึงมรดกที่เรามอบให้ไว้กับเยาวชนและสังคมทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจจากเงื้อมมือของเราเอง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นผู้มีพระปัญญาอันยิ่ง ท่านตั้งคำถามขึ้นว่า ความทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่นี้ อันมี ความเกิด แก่ เจ็บ และตายในที่สุดนั้น เป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ทุกข์กว่านั้นคือ ความซ้ำซากที่ต้องเกิด-ตาย วนเวียน วกวนซ้ำซากกับการเกิด-ตาย หลายพบชาติ แล้วทำไมคนเราและสรรพสัตว์ทั้งหลายจึงไม่หลุดพ้นจากทุกข์ที่เวียนว่ายตายเกิดนี้เสียที สิ่งนี้ตอนที่ท่านเสวยพระชาติเป็นพระสิทธัตถะกุมารในเบี้องต้นท่านก็ยังไม่แจ้ง ไม่รู้จักเลย มารู้สึกก็เมื่อครั้งที่ท่านเสด็จออกนอกพระราชวัง ได้พบความจริงของสิ่งทั้งหลายว่า ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง ล้วนเป็นทุกข์น่าสังเวทจริงๆ คิดได้ดังนั้นท่านจึงสละทุกสิ่งในชีวิตเพื่อการนี้ เพื่อค้นหาวิถีทางแห่งการระงับทุกข์ การออกจากทุกข์ อย่างไม่ต้องกลับมาทุกข์อีก ท่านทำเพื่อใคร? พวกเราเคยลองย้อนกลับไปคิดกันหรือไม่ โดยมากคิดแต่ว่าเราจะทำอะไรอย่างไรจึงได้บุญมากๆ จะได้พ้นทุกข์เร็วๆ มิหนำซ้ำยังคิดแบบเปิดปุ๊ปกินได้ปั๊ปซะด้วย ทำบุญปุ๊ปต้องได้รับการตอบรับแห่งบุญทันทีคือ...........(เติมความต้องการเอาเองแล้วแต่กิเลสของคนนั้น) คงคิดว่าการทำบุญเหมือนกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมั๊ง หรือประเภทกินด่วนตามห้างดังๆทั้งหลาย บ้างก้อคิดว่าจะทำบุญอะไรหนอจึงรวยได้ดังใจหวังชนิดทันตาเห็นด้วยนะประเภทบุญหล่นจากฟ้า น่าหัวร่อและน่าอายเป็นที่สุด เคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า กว่าที่พระเจ้าสิทธัตถะจะบรรลุธรรม รู้แจ้งในพระธรรม และได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านต้องแลกด้วยทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดในชีวิตที่มี แม้กระทั่งเลือดเนื้อในกายทั้งหมดที่มีทีเดียว เคยมีคนคิดถึงความทุกข์ยากลำบากของพระองค์ท่านบ้างไหม? ฝากให้ชาวพุทธช่วยกันคิดสักนิดค่ะ

สรุป เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราปราถนาว่า ต้องพ้นทุกข์เป็นความจริง ถ้าไม่พ้นทุกข์ก็ขอให้ความทุกข์ทุเลาเบาบางลงบ้างนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด ให้สมกับที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงฝากเรื่องนี้ไว้ให้กับลูกหลานเช่นเราได้ศึกษาและปฏิบัติไว้เป็นตัวอย่างมาสองพันกว่าปี มีคุณค่า มีคุณประโยชน์จริง เราทั้งหลายที่เรียกตนว่า พุทธศาสนิกชนคนชาวพุทธควรสำเนียกไว้คือ เลิกมอมเมาชาวพุทธแบบมีมายากันได้แล้ว หันมาปฏิบัติธรรมบริสุทธิ์กันเถอะ ปาฏิหารย์จะมีจริงก็ต่อเมื่อท่านมี ความมีศรัทธาแท้แน่วแน่ต่อพระรัตนะตรัย มีการรักษาศีล มีการเสียสละ ที่สำคัญดำเนินชีวิตด้วยปัญญา นั้นแหละท่านจึงพบหนทางแห่งความก้าวล่วงทุกข์และเป็นหนทางแห่งอริยะชน สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.

แก้วเกษม ศรัทธาโพธิธรรม

วันอังคารที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ชีวิตนี้มีความจริง

ความจริง เป็นเรื่องที่ทุกคนชอบและต้องการ มนุษย์ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายล้วนเกลียดความเท็จ เกลียดความจอมปลอม เกลียดความหรอกลวงและรังเกียจการโกหกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้ารู้ว่าตนเองถูกหรอกด้วยแล้วยิ่งโกรธเคืองเป็นที่สุด ดังนั้นเราจึงเห็นว่าศีลข้อที่ 4 คือ มุสาวาทเป็นศีลข้อสำคัญยิ่งข้อหนึ่งในจำนวนศีลทั้ง 5 ข้อ

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เป็นบุคคลที่กล่าวแต่ความจริงทั้งสิ้น พระองค์ไม่เคยกล่าวคำเท็จแม้แต่เพียงคำเดียว พระวาจาของพระองค์บริสุทธิ์ที่สุดจริงที่สุด พระพุทธเจ้าค้นคว้าค้นหาและค้นพบ เรื่องราวของความจริงทั้งหลายทั้งมวลในโลกและนอกโลกเป็นความจริงที่สัมผัสได้ พิสูจน์ได้ ความจริงที่เป็นอมตะ ไม่จำกัดกาลเวลา ไม่จำกัดเพศและวัย เป็นเรื่องราวความจริงของชีวิตซึ่งเป็นศาตร์วิชาที่สูงสุดของโลกไม่มีวิชาใดที่จะสูงไปกว่านี้อีกแล้ว นั่นคือ พุทธศาตร์

ท่านและเราเคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่าเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทราบทุกอย่างในโลกและนอกโลก ในกายและนอกกายได้อย่างละเอียดละออที่สุดปานนั้น เคยมีคนมากมายกล่าวว่าท่านเป็นคนที่มาจากนอกโลก หรือบางคนบอกว่าท่านเป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์มากเกินกว่าที่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายจะเทียบได้ นั่นก็เป็นเรื่องของความคิดของแต่ละคน เรายกประเด็นนี้ออกเสีย แล้วมาคุยเรื่องความจริงดีกว่า ที่แท้ความจริงปรากฏอยู่ตลอดเวลาทุกๆ ลมหายใจเข้า-ออก แต่เราไม่ละเอียดพอ ไม่ช่างสังเกต ไม่รู้ ไม่เห็นและไม่พยายามยอมรับความจริงตะหากนี่คือ ประเด็นสำคัญ เรายังแข็งกระด้างอยู่ เรายังปิดบังอำพรางตัวตนอยู่ เรายังใช้อารมณ์เป็นใหญ่อยู่นี่คือ ม่านดำบังตา – บังใจและบังปัญญา ย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล สมเด็จพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าก็ปิดบังความจริงกับพระราชโอรสคือ เจ้าชายสิทธิธัตถะ ว่าโลกนี้มีแต่ความน่ารื่นรมย์ ความสุขสนุกสำราญใจ ไร้ทุกข์ทั้งปวง (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) มอบแต่ความสุขให้กับพระราชโอรส ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางโลกีย์ทรงมอบให้อย่างมากมาย มอบความมีตัวตนให้กับพระราชโอรสอย่างเต็มที่ ปิดบังโลกภายนอกไว้ ไม่ให้เห็นความจริงทั้งมวลที่อยู่ภายนอกพระราชวัง นี่เรียกว่า พระราชบิดากำลังปิดบังความจริงของโลก หรือ จะเรียกว่ากำลังโกหกลูกก็ได้

แต่แล้วกรรมลิขิตให้เจ้าชายสิทธิธัตถะได้รับรู้ความจริงว่า ในโลกนี้ใช่มีแต่สุขเพียงอย่างเดียว แต่โลกนี้ยังมีความทุกข์ร่วมอยู่ด้วย โลกนี้ใช่มีแต่พระราชวังอันยิ่งใหญ่แต่ยังมีขอทานนอนข้างถนนไร้ที่อยู่อาศัยอดอยากยากแค้นแสนสาหัสอยู่ข้างพระราชวังอีกจำนวนมาก โลกนี้ใช่มีแต่เสียงประโคมดนตรีอันเสนาะไพเราะยิ่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเสียงคร่ำครวญโหยหวนอย่างเจ็บปวดทุกข์ทรมานของผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งทางกายและทางใจจำนวนมหาศาล และโลกนี้ใช่มีแต่การเกิดมันยังมีความตายที่ชิดแนบสนิทกับตัวบุคคลทุกคนอีกด้วย (เหมือนดังกายเนื้อกับเงาที่ติดตามกันอย่างแยกกันไม่ได้ เงาเป็นเครื่องเตือนให้เรารู้ว่า กรรมคอยติดตามเราไปทุกหนแห่งที่เราเกิด และเงายังเป็นเครื่องเตือนใจให้คิดถึงความตายได้อีกด้วย ว่าเมื่อใดกายหยุดเคลื่อนไหวอย่างสนิทเงานั้นก็หายไป นั่นคือ ท่านได้ตายแล้ว แต่สิ่งที่เหลืออยู่คือ กรรม ที่ยังไม่ตาย กรรมจะตายก้อต่อเมื่อเราดับสนิทแล้ว เท่านั้น)

เมื่อวันหนึ่งมาถึง พระองค์เห็นความจริงของชีวิตที่พระองค์ไม่เคยรู้มาก่อนทั้งหมดดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของความจริงทั้งหมดในโลก ถ้าพิจารณาทบทวนให้ดีพระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น เป็นบุคคลเดียวและบุคคลแรกของโลกที่ประกาศความจริงของชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ปรากฏขึ้นอย่างองอาจที่สุด ไม่มีพระเจ้าองค์ใดในศาสนาใดที่กล้ากล่าวความจริงนั้นๆ โดยมากมักสอนให้ตั้งความหวังและฝากความหวังไว้กับการบูชา หรือบูชายันต์หรือการฝากชีวิตไว้ในกำมือของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่สามารถประทานทุกอย่างให้กับผู้ที่สังเวยหรือถวายเครื่องบรรณาการให้กับพระผู้เป็นเจ้า หรือ บริวาลของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเต็มที่บางลัทธิถึงกับต้องสังเวยชีวิตคน หรือสัตว์ หรือสังเวยความสาวให้กับสาวกของพระเจ้าในลัทธินั้นๆ นั่นถือว่าคนโง่ย่อมตกเป็นเหยื่อของคนโฉดผู้ขาดซึ่งศีลธรรมโดยสิ้นเชิง เราจะไม่พูดกันถึงเรื่องนี้ขอเพียงเราใช้วิจารณญาณให้ดีก็สามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องโดยไม่ยาก

มีเพียงศาสนาพุทธเท่านั้นที่กล่าวว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นจากกรรมและกรรมที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ผู้ใดกระทำกรรมอันใดไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นอย่างยุติธรรมที่สุด เมื่อเรากล่าวถึงกรรม พระพุทธเจ้าท่านก็อยู่ภายใต้กฏแห่งกรรมเช่นกัน พระองค์เป็นผู้มีความละเอียด เป็นผู้มีความอ่อนน้อม เป็นผู้มีจิตใจงดงามเปี่ยมด้วยเมตตาธรรมสูงสุดและเป็นผู้ประพฤติธรรมอันบริสุทธิ์มาโดยตลอดทุกภพชาติ ตามพระพุทธประวัติเราจะเห็นว่าไม่ว่าพระองค์ท่านจะไปเกิดในภพใดชาติใด เกิดเป็นอะไรก็ตามท่านจะไม่ประมาทในกรรม พระองค์เป็นผู้มีสัจจะประพฤติปฏิบัติแต่กรรมดีให้ดียิ่งๆขึ้น พร้อมงดเว้นจากกรรมชั่วทั้งมวลจนจิตบริสุทธ์ถึงขั้นปรมัตถ์ แล้วในชาติสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของโลก นี่คือ สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า กรรมมีจริง สิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศคือ เรื่องของกรรมทั้งสิ้น พระองค์สอนให้บุตรของพระองค์ ไม่ประมาทในกรรม ให้กำหนดรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอทุกลมหายใจเข้าออกเพื่อ อะไร เพื่อเป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติอันบริสุทธิ์ ถ้ากระทำกรรมใดก็ตามก็ต้องเป็นกรรมขาว กรรมดี หากแม้ยังไม่หมดภพชาติและต้องกลับมาเกิดอีกจะได้ไม่ตกต่ำกว่าชาติที่ผ่านมา นี่คือความฉลาดของผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติในพุทธศาสตร์ศาสนา เป็นความฉลาดที่บริสุทธิ์ รวมเรียกว่า ปัญญา เท่านี้แหละที่เป็นเบื้องต้นว่าทำไมเราจึงต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ถ้าไม่อยากตกต่ำ และปราถนาพ้นทุกข์กันจริงๆ ก็ต้องเชื่อว่า ทุกอย่างในโลกนี้เกิดขึ้นเพราะกรรมกำหนด และนั่นคือ เรามีความกตัญญูกตเวทิตา มีความศรัทธารักและเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราอย่างสูงสุด พระองค์คือ พระบิดาทางจิตวิญญาณของเรา พระองค์เรียกผู้ปฏิบัติประพฤติธรรมของพระองค์ว่า “บุตรแห่งเรา”

แต่ศาสนาพุทธไม่ได้กล่าวว่า ฝากชีวิตไว้กับพระเจ้า กลับกล่าวว่า

ผู้ใดประพฤติธรรม “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต”

ดังนั้นตนจึงเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น และนี่คือ ชีวิตนี้มีความจริง

ทุกคนชอบความจริงแต่ทุกคนกลัวความจริง ความจริงที่พระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวไว้คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อพบต้องพรากจาก ไม่อยากได้สิ่งที่ไม่ชอบ -ไม่อยากเสียของรักไป มีสุขต่อไปก้อต้องทุกข์ ต้องพบกับความบีบคั้นต่างๆนานาตลอดเวลา เป็นเช่นนี้ตลอด หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมันเป็นสัจจะ เป็นความจริง เป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วประกาศความจริงนี้ทั้งสิ้น ถ้าใจรู้ ใจกำหนดสติตามทัน จิตรู้ จิตกำหนด ที่สุดจิตเห็นธรรม (ความจริงของสิ่งทั้งปวงเรียกว่า โลก) ชีวิต จิตและธรรมในโลกของตัวเรา ก็สงบ สุข สว่าง สะอาด และที่สุดดับเย็นเป็นสูงสุด

แก้วเกษม ศรัทธาโพธิธรรม

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒

รู้อะไรก้อไม่เท่ารู้ตัว ลืมอะไรก้อไม่เท่าลืมตัว (ภาค 1)

ประโยคที่กล่าวนี้ “รู้อะไรก้อไม่เท่ารู้ตัว ลืมอะไรก้อไม่เท่าลืมตัว”นี้ นี่เป็นคำใหญ่เป็นหัวใจของชีวิต และเป็นสิ่งจำเป็นที่โลกนี้ต้องมี มันเป็นหลักเป็นแกนกลางเป็นหัวใจของโลกของจักรวาล เพียงประโยคสั้นๆเท่านี้ แต่มีพละกำลังมหาศาลยิ่งกว่าปรมณูเสียอีก เพราะสามารถเป็นผู้สร้างและเป็นผู้ทำลายที่มีอานุภาพมากถึงมากที่สุด และไอ้ประโยคสั้นๆแค่นี้แหละถ้าผู้ใดเข้าใจและมีปัญญา มีสติระลึกรู้ถึงคุณค่าของคำ มีวิธีทำประโยชน์และนำประโยชน์จากประโยคนี้มาดำเนินชีวิตที่มีอยู่น้อยในชาตินี้ ให้มีประโยชน์และมีค่าที่สุดได้ก็จะมีชีวิตที่คุ้มค่าที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์


“รู้อะไรก้อไม่เท่ารู้ตัว ลืมอะไรก้อไม่เท่าลืมตัว” เป็นคติธรรมที่ต้องพกติดตัวติดใจติดจิตไว้ตลอดเวลา และต้องหมั่นฝึกฝนให้เคยชินจนเป็นนิสัยเป็นสันดานกันไปเลย เพราะเมื่อไรที่เราลืมตัวเมื่อนั้นความลำบาก ความทุกข์ยาก ความฉิบหายก้อจะมาเยือนมาเป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากกับเราทันที แน่นอนลืมตัวเมื่อไรได้เพื่อนทุกข์เพื่อนยากแน่ๆ ไม่มีวันได้เพื่อนสุขเพื่อนเกษมไปได้หรอก แต่ถ้ารู้ตัว รู้ตัว ไม่ลืมตัว เมื่อนั้นสิ่งดีๆ เพื่อนดีๆ เพื่อนแท้ เพื่อนสุขเกษมก็จะมาเป็นมิตรชิดใกล้กับเราเช่นกัน


รู้อะไรก้อไม่เท่ารู้ตัว ลืมอะไรก้อไม่เท่าลืมตัว” เป็นคำเตือนที่ต้องสนใจ เป็นสัจจะไม่โป้ปด เป็นหัวใจของโลก ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนต้องดับไป เกิดขึ้นเท่าไรดับหมดเท่านั้นไม่มากไม่น้อยไปกว่ากันมันเท่ากันพอดี แต่ช่วงเวลาของการดำรงอยู่กว่าจะดับใช้เวลาไม่เท่ากันนะ และไอ้ความไม่เท่ากันของการดำรงอยู่นี้แหละคือแง่คิดที่ดี ว่าช่วงเวลาสั้นหรือยาวนี้ใครจะรู้ตัวก่อนกัน ใครจะลืมตัวกว่ากัน ยิ่งลืมตัวนานเท่าไรภพชาติก็ยิ่งยาวนาน ส่วนใครรู้ตัวก่อนการตัดภพตัดชาติก็ยิ่งสั้นเข้าๆ ความดับเย็น ความสิ้นภพสิ้นชาติก็ใกล้ความเป็นจริงเข้ามาทุกทีจนในที่สุดเป็นจริงได้ นั่นคือ หยุดเกิด ดังนั้น หัวใจสำคัญคือ ต้องรู้ตัว ต้องรู้ตัว อย่าลืมตัวเป็นอันขาด ชีวิตของเราทุกวันนี้ ที่ต้องพบกับความวุ่นวาย พบกับความร้อนใจร้อนกาย พบกับความยุ่งยากนานาประการก็เพราะลืมตัวนั่นเอง นี่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทุกๆประเภท เพราะเราลืมตัว ลืมตาย ลืมวัฎจักร ลืมศีลธรรม ลืมเมตตาธรรม ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง สรุปลืมตัวที่เป็นของตัวเองและของผู้อื่น เอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่เป็นสำคัญลืมหัวใจของความเป็นธรรม นี่แหละคือ จุดแห่งความเสื่อมที่แท้จริง


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้สอนอะไร ลองคิดดูให้ดีๆ พระองค์ท่านทรงสอนเรื่อง “รู้ตัว” ไม่มีสักครั้งเดียวที่ท่านจะไม่กล่าวถึงความรู้ตัว แม้กระทั่งวาจาในครั้งสุดท้ายท่านก็กล่าวถึงความรู้ตัวอยู่นั่นเอง “จงวางตนไว้อยู่ในความไม่ประมาท” แปลว่ารู้ตัว ขณะที่สอนการปฏิบัติธรรมพระองค์ท่านก็สอนให้ รู้ตัวทั่วพร้อมอีก ให้มีความรู้ตื่นตลอดเวลา นั่นคือสติปัฏฐาน 4 (ทางสายเอกสู่ความหลุดพ้นมุ่งสู่พระนิพพาน) ลึกลงไป ต้องรู้ถึงว่า เราเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรอยู่ เกิดมาทำไม และที่สุดจะไปไหน ระลึกให้ได้ ระลึกอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าไม่ว่างจากสติ เมื่อมีสติก็มีตัวรู้ ไม่หลง ไม่ลืม ฟังดูง่ายแต่จริงๆแล้วยากเหลือเกินจริงไม๊ลองคิดดู แต่ถึงยากก็ต้องฝึก ต้องทน ต้องทำ ทำตัวให้รู้ตัว รู้ที่มา รู้ที่อยู่ รู้ที่ไปให้จงได้


ถ้ารู้ตัวไม่ทันมัวแต่ระเริงไฟอยู่ (ไฟตัณหา ไฟราคะ ไฟอุปทาน) ก็ไม่ต่างกับแมลงเม่าบินเข้ากองไฟเท่านั้นสุดท้ายตายเปล่า เกิดมากี่ชาติก็ตายเปล่าไร้สาระทุกชาติไป น่าเสียดายเสียชาติที่ได้เกิดเป็นคน การได้เกิดเป็นคนนั้นก็ยากแสนยากเสียด้วยไม่ได้ว่าจะได้เกิดมาเป็นคนกันทุกๆชาติหรอกนะ เอาไว้ตอนหน้าเราจะมาพบกันอีก ว่ารู้ตัวรู้อย่างไร รู้ตัวเพื่ออะไร และรู้จักตัวเมื่อไรรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น ตอนนี้เราทั้งหลายยังห่างไกลพระองค์เหลือเกิน มาเถิดมาเข้าเฝ้าพระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราด้วยกัน


รู้ตัว รู้ตน รู้กรรม รู้ธรรม รู้เวลา รู้ชะตา รู้ที่มา รู้ที่อยู่ รู้ที่ไป อย่างไรซะก็ดับเย็นได้เป็นที่สุด เมื่อสติมาปัญญาเกิด เมื่อรู้ตัวไม่ลืมตัวเมื่อนั้นหยุดเกิด ดับเย็นเป็นที่หวังได้.


เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม.

วันพุธที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ทรัพย์แท้เลิศค่าอยู่ที่จิต

ทรัพย์แท้เลิศค่าอยู่ที่....จิต
ทรัพย์สินเงินทองเป็นสิ่งที่หามาได้ยากแต่ที่ยากยิ่งกว่าการหาทรัพย์ คือ การเก็บรักษาทรัพย์นั้น และที่ยากยิ่งกว่านั้นก็ยังมีอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด คือ การใช้จ่ายทรัพย์ที่มีอยู่นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด นี่คือความยากที่แท้จริง ในเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพย์เป็นเรื่องที่ต้องใช้ศิลปะอย่างชาญฉลาดและรอบคอบที่สุด ถ้ามิเช่นนั้นแล้วผู้มีทรัพย์ก็จะต้องเสียทรัพย์อย่างไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรแถมยังมีตัวโง่ติดมาอีกด้วย
การใช้จ่ายชนิดให้เกิดประโยชน์สูงสุดยากจริงๆ เพราะต้องเป็นประโยชน์ทั้งก่อนที่จะใช้ ได้ประโยชน์ขณะที่กำลังจ่ายทรัพย์ และสูงสุดของการใช้ทรัพย์ คือ ประโยชน์เกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์กับผู้เป็นเจ้าของทรัพย์อย่างเต็มที่ เต็มประโยชน์ตรงเป้าหมายและจะให้ดีกว่านั้นต้องมีประโยชน์กับผู้อื่นและสังคมโดยรวมด้วย นั่นแหละ คือ สำเร็จจากการจับจ่ายทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความยากลำบาก คำว่า ทรัพย์ ฟังหรือพูดแค่นี้ทุกคนคงคิดถึง เงินตราเป็นอันดับแรก ไม่ว่าเงินนั้นจะเป็นสกุลเงินของชาติใด เงินดอลล่า เงินปอนด์ เงินบาท เงินหยวน หรือแม้แต่เงินกีบ ล้วนมีค่าในตัวเอง แต่เจ้าเงินนี้มีทั้งให้คุณและให้โทษแก่ผู้เป็นเจ้าของ เรียกว่าเป็นดาบสองคมเป็นทั้งมิตรและศัตรู เป็นสิ่งที่ให้คุณมหาศาลและให้โทษมหันต์ ถ้าเราไม่รู้จักทรัพย์ที่ตนมีให้ถ่องแท้เราก็ตกเป็นทาสของทรัพย์นั้น ต้องกลายเป็นผีเฝ้าทรัพย์ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ตายเป็นผีทั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่นี้แหละยิ่งถ้าผูกแน่นเท่าไรพอตายจริงเป็นผีเฝ้าปากบ่อแน่นอน ที่จริงแล้วคนเราตกเป็นทาสของทรัพย์กันเสียส่วนมาก ติดยิ่งกว่ากาวตราช้างเสียอีกปล่อยให้ความสมมตินั้นมาเป็นนายใจเรา แต่คนที่ฉลาดย่อมเห็นทรัพย์เป็นทาสและใช้ทรัพย์นั้นสร้างภพปัจจุบันให้ตนพ้นจากคนมาเป็นมนุษย์และเลื่อนจากมนุษย์เป็นเทวดา นางฟ้า ตั้งแต่ยังไม่ตาย และเมื่อตายแล้วก็ได้ไปเสวยทิพยสมบัติที่ตนได้สร้างไว้ต่ออีกในภพหน้า ไม่มีใครหน้าไหนสร้างภพสร้างชาติให้กับตัวเราได้นอกจากตัวเราเองเท่านั้น สิ่งสำคัญต้องสร้างภพในขณะที่เสวยชาติเป็นคนหรือมนุษย์เท่านั้นอีกด้วย การเกิดเป็นอย่างอื่นๆนอกเหนือจากคนสร้างบุญสร้างภพไม่ได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญ นี่น่าคิด ดังนั้นถ้าเรารู้จักทรัพย์ดียิ่งและควบคุมมันได้ย่อมได้สาระประโยชน์อย่างมหาศาล แต่เรามารู้จักทรัพย์ตัวอื่นๆกันก่อนจะดีไหม

คำว่า “ทรัพย์” เริ่มต้นจากทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินตราทองหยองก็ได้ ทรัพย์ที่เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆนั่นก็จัดเป็นทรัพย์ ชื่อเสียงเกียรติยศทางสังคมก็จัดว่าเป็นทรัพย์

แต่ทรัพย์ที่สำคัญและมีค่าที่สุดในชีวิตที่เกิดมา คือ กายกับจิต นี่เป็นทรัพย์ที่มีค่ายิ่ง กายมีค่ามากที่สุดแต่ก็รองจากจิต สูงสุดของที่สุด คือ จิต

จิตเป็นทรัพย์อันเลอค่าหาสิ่งใดมาเทียบไม่ได้ เสียทรัพย์ใดๆก็ไม่เท่าเสียจิตเพราะถ้าจิตเสียและในที่สุดท่านเสียจิตเมื่อใดทรัพย์ทั้งหลายบรรดามีนั้นก็ล้วนไม่มีค่าล้วนหมดความหมาย เพราะถ้าจิตเสียเมื่อใดชีวิตที่เกิดมานี้หมดสิ้นทันทีกลายเป็นคนไร้ค่า เมื่อชีวิตหมดค่าแล้วทรัพย์ก็ไม่มีค่าหมดราคาทันทีเช่นกัน คิดแล้วน่ากลัวมิใช่น้อยต้องรักษาจิตให้ดีกันทุกคน

คนเรามุ่งหาแต่ทรัพย์สินภายนอกอันเป็น เงินทอง บ้านช่อง รถยนต์ เครื่องอำนวยความสะดวก และทรัพย์ที่อุปโลกสมมติขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงเกียรติยศหรืออะไรๆก็ตาม สิ่งต่างๆที่ท่านออกแรงอย่างสุดแรงเกิดเพื่อให้ได้มานั้นท่านก็ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่า มีค่าจริงหรือ และมีไปเพื่ออะไร แต่สิ่งต่างๆที่ว่านี้ก็ต้องมีไว้ เพื่อสังคมมันเป็นวัฒนะธรรมไปแล้วว่าต้องมีและมันยังเป็นเครื่องวัดเครื่องอวดโฉมอวดดีกันในสังคมอีกด้วย ก้อเพื่อหน้าตาที่ท่านปั้นแต่งพอกพูนจนหนาแน่นขูดให้บางเบาลงยากเหลือเกิน สิ่งต่างๆนี้เข้ามาบดบังความจริงถึงทรัพย์แท้ๆว่า ทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของมนุษย์นั้น คือ ความดีและคุณค่าของสิ่งมีชีวิต ไม่มีสัตว์ใดๆในโลกนี้ที่เกิดมาไม่มีค่า ทุกตัวสัตว์เกิดมาเพื่อสร้างคุณประโยชน์และคุณค่าให้แก่กันและกัน แม้แต่เชื้อโรค คิดดูว่าในร่างกายของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือแม้แต่ต้นไม้ใบหญ้าก็มีเชื้อโรคอาศัยอยู่ถ้าไม่มีเชื้อโรคเลยชีวิตก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นก็สรุปได้ว่าทุกชีวิตมีค่าในตนเองแต่เจ้ามนุษย์ผู้มากเรื่องอย่างเราๆกลับมองความจริงที่มีนี้ด้วยความเห็นแก่ตัว ปั้นหน้าปั้นตาเสแสร้งแกล้งมายาขยันหาหน้ากากมาใส่หรอกกันไม่รู้สักกี่หน้าเปลี่ยนกันแทบไม่ทัน มันเป็นค่านิยมที่ผิด จิตใจก็ถูกรดราดด้วยสิ่งย้อมให้เป็นมายา ดังถูกย้อมด้วยน้ำเมา แต่นี่เราเมาชีวิต เมาชีวิตนี่เมายิ่งกว่าเมาเหล้าอีกนะ เมาเหล้าเช้าสายก็หายไปแต่เมาชีวิตบางคนตายแล้วเกิดใหม่ยังไม่หายเมาเลย น่าหัวเราะเยาะจริงๆ สำหรับพวกที่เมาโลกเมาชีวิต ชนิดยอมตายดีกว่าสร่างเมา เมื่อไรสติจะกลับคืนมากันเสียทีหนอ เสียงหัวเราะที่มีกันอยู่เหมือนว่ารื่นเริงเสียเต็มประดานั้น ถ้าตั้งใจฟังให้ดี เสียงหัวเราะนั้นคล้ายเสียงคร่ำครวญและหรือ เสียงหอบหายใจอย่างเหนื่อยอ่อนมากกว่า มีประโยชน์อะไรกับการเสแสร้งแกล้งว่ามีความสุขเสียเต็มประดา ทั้งที่เรากำลังหวาดกลัวจนตัวสั่นใจสั่นเสียปานนั้น กลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย กลัวยากจน กลัวลำบากกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวถูกจับได้ว่าเสแสร้งนั่นประไรอันสุดท้ายนี่เรียกว่า กลัวเสียหน้า และที่สุดชีวิตของทุกผู้นามเมื่อเข้าสู่ปัจฉิมวัย คือ เมื่อร่างกายเริ่มอ่อนล้าลง กำลังวังชาเริ่มถดถอย สายตาเริ่มพร่ามัว เราและท่านผู้หนีไม่พ้นมือมัจจุราชก็เริ่มมองหาความอบอุ่นทางใจความอบอุ่นทางกายกันอีกครั้งคือ มองหาสัจจะธรรมของชีวิต ทุกจิตวิญญาณเดินบ้างวิ่งบ้างเข้าหาความเงียบสงบ ความเรียบง่าย ความสบายๆเบาๆ และอิสระของชีวิต เสรีภาพของจิตที่ไร้สิ่งผูกมัดทางวิญญาณ และนี่คือขุมทรัพย์มหาสมบัติที่มีค่าและยิ่งใหญ่ที่สุด อิสระของชีวิตและเสรีภาพของวิญญาณ ตลอดชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้กี่ภพชาตินี้ล้วนต่อสู้และค้นหาอิสระของชีวิตและเสรีภาพของวิญญาณทั้งสิ้น จิตใจต้องการสิ่งหล่อเลี้ยงที่ สะอาด สงบ สบาย และให้เสรีแก่จิตอย่างเต็มที่และตั้งอยู่บนความถูกต้อง เพื่อตระเตรียมชีวิตสู่โลกใหม่ที่ดีกว่าเก่า เพราะเราเริ่มหวั่นกลัวแล้วที่จะต้องไปเกิดใหม่ ในที่ๆจะไปนั้นน่ากลัวหรือน่ารื่นรมย์ และที่สำคัญ บุญ-บาป ที่ตนสร้างไว้นั้นตนเป็นผู้รู้เองทั้งหมด ทุกอย่างมันถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดละออเสียจนน่าตกใจอยู่ตรงกลางแห่งดวงจิต เป็นการบันทึกที่ยาวนานหาจุดเริ่มต้นไม่ได้ และหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ นอกจากจนกว่าเราทั้งหลายจะพบและน้อมนำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาปฏิบัติตามเมื่อนั้นเราก็จะพบอิสระและเสรีภาพแห่งจิตที่แท้จริง แต่วันนี้ตนเองนั่นแหละที่ต้องเป็นผู้ตกใจกับบันทึกลับนั้นมิใช่ใครอื่น หรือบางท่านก็เป็นสุขยิ่งกับบันทึกนั้น อิ่มบุญอิ่มเอิบเบิกบานบันเทิงใจจนใครๆก็ไม่เข้าใจ นอกจากตัวเราเองที่รู้ถึงความบริสุทธิ์ของตัวได้ดีกว่าใครๆ
หันมาแสวงหาทรัพย์ทางจิตกันเถอะเพื่อจิตใจและชีวิตอันมีค่ายิ่งนี้ แต่เวลาชีวิตกลับมีไม่มากพอต่อการแสวงหาของมีคุณค่านั้น ดังพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า “ชีวิตเป็นของเหลือน้อย” จิตวิญญาณต้องการสิ่งหล่อเลี้ยงที่ บริสุทธิ์และเลิศกว่าทรัพย์ใดๆทั้งปวง เพื่อยังชีวิตในปัจจุบันและชีวิตในอนาคตทั้งภพนี้และภพหน้าให้อยู่ เป็นสุข เป็นสุข มิใช่เป็นทุกข์โทมนัสดังที่ผ่านมา ดังนั้นจงรีบหันมาหาทรัพย์ทางจิตวิญญาณทางใจสะสมไว้ในจิตของตนกันบ้างเถอะนะ ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้สะสมบุญคือต้นเหตุแห่งความสุขนั้น จิตที่เกษมสุขด้วยลมหายใจแห่งธรรมะหล่อเลี้ยงชีวิตให้สมบูรณ์สมกับที่ได้เกิดมาเป็นคนท่านมีแล้วหรือยัง

ที่กลางดวงใจมีจิตสถิตอยู่ ที่กลางดวงจิตมีธรรมเป็นจุดศูนย์กลางแห่งพลังชีวิต เมื่อธรรมะเบ่งบานในจิตเมื่อใด ชีวิตจะเป็นดั่งดอกบัวบานที่พ้นน้ำเมื่อนั้น

ขอให้ดอกบัวในใจทุกดวงได้โผล่พ้นน้ำและเบ่งบานรับอรุณธรรมด้วยกันทุกดวงเทอญ.

อนุโมทนาสาธุ
แก้วเกษม ศรัทธาโพธิธรรม

วันพฤหัสบดีที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ชีวิตได้ดีถ้ารู้ทันจิต

มนุษย์ทุกคนอยากมีชีวิตที่ได้ดี นี่เป็นสัจจะวาจา แต่คำว่า “ชีวิตได้ดี” คืออะไร คำว่าได้ดีนั้นหมายถึงได้อะไร แล้วได้อะไรจึงจะดีได้

การรู้ทันจิต” หมายถึงอะไร และคำว่า “จิต” นี่แปลว่าอะไร การรู้ทันจิตรู้ทันอะไรล่ะ อะไรที่เกี่ยวกับจิต มันเป็นการยากที่บุคคลจะรู้เท่าทันจิต แค่เฝ้ามองการปรุงแต่งจิต (สังขาร) ก็ยากแล้ว นี่กลับต้องรู้ทันจิตอีกมันยากยิ่งกว่า แต่พระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ท่านก็มุ่งเน้นให้เรารู้ทันจิต เข้าใจเรื่องของจิตและให้เข้าไปดูจิตอย่าได้ออกนอกจิต อีกทั้งเข้าไปดูจิตในจิตอีก งงไปกันใหญ่ ยากไปกันใหญ่ อะไรคือจิตในจิต ถ้าค้นเจอทุกอย่างหยุด ทุกอย่างหยุดจริงๆ

เพียงสองประโยคสั้นๆนี้ ถ้าเข้าถึงท่านก็จะพบกับความสุขที่สมบูรณ์และเป็นความสุขที่ปลอดทุกข์หรือทุกข์น้อยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การรู้ทันจิตในความหมายทางธรรมะนี้คือ การรู้อย่างผู้มีสติ มีคุณธรรม มีศีลรักษา มีธรรมคุ้มครองและมีจรรยาจริยะงดงาม ไม่งุ่มง่ามเซอะซะ ไม่ใช่การรู้ทันจิตอย่างโลกๆ ที่มีแต่ทำตามจิตตามใจอันทยานอยากไม่รู้จักพอไม่จบสิ้นยิ่งมียิ่งหิว ยิ่งมียิ่งหิวจริงๆ นี่ก็ต้องอธิบายกันเสียก่อนเดี๋ยวจะสับสนปนเป เปรอะเปลื้อนกันไปหมด

การที่จะทำให้ชีวิตได้ดีและดีได้จากการรู้ทันจิต นั้นก็ต้องมีการฝึกฝน มีการเฝ้ามอง ตรึกตรอง ใคร่ครวญ อย่างจริงจัง บางครั้งต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปีหรือตลอดไป แต่ยืนยันได้ว่าถ้าท่านได้กระทำการเฝ้าดูรู้ทันจิต บอกตัวเองได้ว่านั่นเป็นทางสายบุญหรือทางสายบาป (หมายถึงจิตคิดดี-คิดชั่ว) สิ่งนั้นทำแล้วเป็นทุกข์หรือไม่ เพียงนี้ท่านก็มีทุกข์น้อยลง สร้างบาปได้ยากขึ้น สิ่งใดเป็นเหตุแห่งความชั่ว เป็นบาป เป็นกรรมดำ อันเลวทรามแล้วเราจะไม่ไปในทางนั้น แต่เราจะหมั่นเพียรสร้างกรรมขาวและจะหมั่นเพียรละกรรมดำให้หมดสิ้นจากสันดาน เราจะเพียรสร้างและกระทำจิตใจให้ขาวรอบ อันเป็นบุญกุศล เป็นความดับเย็น ดังคำพระพุทธพจน์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคราวให้โอวาทะปาฏิโมกข์นั้น
ทุกชีวิตอยากได้ดีไม่มีใครอยากได้ชั่ว แต่การได้ดีต้องตั้งอยู่บนศีลธรรมอันดีงาม บนความถูกต้อง เมื่อดีงามถูกต้องก็ได้ดีแน่นอนจะได้ชั่วนั้นเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยใจของตัวเองก็อิ่มเอม อาบสุข นั่งเป็นสุข นอนเป็นสุข ไม่ตกใจหวาดผวาหวั่นกลัวกับสิ่งใดๆ แม้ความตายจะอยู่ตรงหน้าก็สงบเย็น เพราะมั่นใจว่าไม่ตกไปสู่โลกที่ชั่ว มีสุขคติภพเป็นที่หมายอย่างไม่ต้องสงสัย ในสังคมปัจจุบัน บางคนให้ความสำคัญกับวัตถุสิ่งของ เงินทอง มากกว่าสิ่งใดๆทั้งหมด จึงเกิดเป็นค่านิยมที่ผิดไป ความจริงชีวิตยังต้องมีส่วนประกอบอะไรอีกหลายอย่างจึงทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์สมที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นคน ทำไมบางคนมีพร้อมทุกอย่างทั้งบ้านหลังโต รถยนต์คันโก้หรู เงินทองล้นหลาม ชื่อเสียงเกียรติยศและอะไรอีกมากมาย แต่ยังหาที่พึ่งอันแท้จริงของชีวิตไม่ได้ คนเหล่านี้ยังโหยหา อ้างว้าง ว้าเหว่ หิวโหยไม่อิ่มใจและจิตใจยังร้อนรนอยู่ ชีวิตยังมีน้ำตาไหลอาบแก้ม นั่นเป็นเพราะอะไร เพราะเรารู้ไม่ทันจิตใช่หรือไม่ เพราะชีวิตยังไม่ได้ดีใช่หรือไม่ เงินทองข้าวของทั้งหมดที่ทุ่มอุตส่าห์หามาแทบตายนั้นช่วยอะไรไม่ได้เลย มันเป็นแต่สิ่งที่สมมุติเหมือนว่าทำให้เรามีสุข มันก็สุขภายนอกเป็นสุขปัจจัยของการดำรงไว้ในสังคม หรือสุขปัจจัยของการดำรงไว้ในชีวิต ต้องแยกให้ออก เมื่อไรเราจึงจะพบสุขที่แท้จริง เมื่อไรใจเราจึงอิ่ม ใจเราจึงพอ

การรู้ทันจิต เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้และเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ การที่เราฝึกสมาธินั้นแท้จริงเราฝึกอะไรและฝึกสมาธิเพื่ออะไร การฝึกสมาธิ มิใช่การฝึกแค่เพียงให้เรานั่งได้นาน ยืนได้นาน เดินได้นานกว่าคนอื่น แต่การฝึกสมาธิ คือ การฝึกจิตให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ในความเป็นจริง เกิดความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด ชีวิตมีอะไรที่เป็นจริงแต่เรามองข้าม เราคิดว่าตนจะไม่แก่ ไม่เจ็บและไม่ตาย ของที่เรารักต้องอยู่กับเราตลอดไป สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดเราจะควบคุมไม่ให้เกิดให้จงได้ ค้นหาวิถีทางที่จะให้ตนเองเป็นอมตะนั่นคือการหลอกตนเอง ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่เสื่อมไม่มีจริงๆทุกอย่างล้วนเป็นทุกข์ ล้วนเสื่อมไป แปรเปลี่ยนไปทุกวันทุกเวลา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม

การฝึกสมาธิเป็นการฝึกจิต ดูจิต-ดูกาย ดูรูปธรรม-นามธรรม อะไรคือรูปธรรม-นามธรรม เวลาที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์พูดว่า รูปธรรม รู้ไม๊ว่ารูปธรรมคืออะไร เวลาที่กล่าวว่า นามธรรม รู้ไม๊ว่านามธรรมคืออะไร ทำไมต้องแยกรูปแยกนาม หลายคนเคยได้ยินพ่อแม่ครูอาจารย์สอนว่า กายเจ็บใจไม่เจ็บ กายป่วยใจไม่ป่วย กายเคลื่อนใจไม่เคลื่อน นั่นแปลว่าอะไร ดูกายในกายแปลว่าอะไร ดูจิตในจิตแปลว่าอะไรยิ่งพูดยิ่งงงยิ่งสงสัยยิ่งสับสนแต่ก็ทนทำกันต่อไป บางท่านเข้าใจไปไกลกว่านั้นอีกว่า ตนนั่งได้นานเป็นชั่วโมงๆนั่นได้สมาธิแล้ว นั่งเห็นนางฟ้าเทวดา เห็นสวรรค์วิมานหรืออะไรก็ตามตนสำเร็จแล้ว กำลังเข้าใจอะไรผิดไปรึเปล่า เดินจงกลมตั้งนานได้อะไรบ้าง ได้เดิน เมื่อยก็เมื่อย ร้อนก็ร้อนได้อะไร ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ได้อะไรเกิดสติในการปฏิบัติเกิดดวงปัญญาหรือไม่ เวลานั่งสมาธิได้อะไร ปวดหัวเข่า ปวดเอว ปวดคอ ปวดไปหมดทั้งตัว แถมยังต้องอดหลับอดนอน อดข้าวเย็น ต้องอยู่ในกฎระเบียบวินัย ถูกบีบคั้นสารพัดทนไปทำไม เวลาทำบุญทำทานยังต้องเสียสละสิ่งของอันมีค่าอีก ตอนทำบุญเอาจิตไปไว้ไหน ไว้ที่ผลตอบแทนของบุญว่า อยากได้อะไรก็อธิฐานเอาอย่างนั้นหรือ ท่านได้เกิดสติในการปฏิบัติเกิดดวงปัญญาหรือไม่ สรุป ตามจิตทันไม๊นี่ แท้จริงจิตต้องการอะไร จิตค้นหาอะไร จิตในจิตอยู่ที่ไหน เหนื่อยไม๊กับการวิ่งตามกระแสของโลก สุดท้ายวิ่งเข้าวัดตามหาความสงบ ค้นหาจิตของตัวเอง ไปหาที่วัด ไปรดน้ำมนต์ ไปสะเดาะเคราะห์ ไปบวชแก้บนแก้กรรม ไปหาวัตถุมงคลและไปดูดวง มันใช่หรือมันถูกทางแล้วหรือ เข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า จิตอยู่กับตัวอยู่ในกายในใจของตัวไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่การที่เราไปวัดไปปฏิบัติธรรมเพื่อเรียนรู้ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งแล้วนำมาประกาศสั่งสอน ให้โลกได้รู้ความจริงเลิกหลงงมงายกับสิ่งสมมุติต่างๆ ยิ่งพูดยิ่งงงสรุปต้องลองปฏิบัติดู ตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เดินตามพระบาทขององค์พระศาสดา น้อมจิตน้อมใจให้เป็นผู้ว่าง่ายและสร้างศรัทธาในพระธรรมก่อน อย่าเพิ่งติดสงสัยและอย่าเพิ่งปิดทางตันกับใจ
ธรรมะขององค์พระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของสูงเป็นสัจจะวาจา เป็นของทันสมัยตลอดเวลาไม่มีการตกยุค ใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย มีเงื่อนไขเพียงว่าเราต้องเป็นผู้ปฏิบัติเอง เมื่อปฏิบัติแล้วก็จะรู้เองเห็นเอง ทำทันทีได้ทันที บอกให้คนอื่นปฏิบัติแทนก็ไม่ได้และที่สำคัญกว่านั้นต้องปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่องทำเล่นๆคงไม่ได้ของจริง ถ้าได้ก็ได้ของเล่นๆเหมือนกัน ต้องทำอย่างมีปัญญา แล้วปัญญาอยู่ที่ไหนอยู่ที่จิตในจิตไง แล้วจะเห็นจิตในจิตได้อย่างไร อันนี้ท่านต้องตั้งปณิธานและตั้งใจปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง เรื่องนี้มิใช่จะมาพูดกันคำสองคำแล้วจะเห็นได้ ทุกอย่างล้วนมีขั้นตอน มีวิธี มีภาวะ และมีเจตนาบวกกับความศรัทธา เมื่อทุกอย่างประกอบพร้อมขึ้นเป็นพลังธรรมในใจในกายหมายจะมอบกายถวายชีวิตแด่พระรัตนะตรัยแล้ว ณ บัดนั้นท่านก็คงค้นพบจิตในจิต กายในกายได้ไม่ยาก
ขอคุณธรรมอันประเสริฐแห่งพระรัตนะตรัยจงปรากฏเป็นแสงแห่งธรรมอันสว่างๆไสวที่สุดเหลือที่จะประมาณได้ บังเกิดเป็นรัศมีอันกว้างใหญ่ไพศาลผ่านไปทุกภพภูมิเพื่อให้หมู่สัตว์ผู้พอจะมีบารมีในธรรมได้รู้แจ้งในธรรมที่พระพุทธเจ้าได้รู้แล้วนั้นตามบุญวาสนาของแต่ละคนนั้นๆเทอญ.

ผู้มอบกายถวายชีวิตแด่พระรัตนะตรัยย่อมได้รับความสุขจริงทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม

วันพุธที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ความริษยา

วันนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องของอารมณ์ริษยา ซึ่งเป็นอารมณ์ในเชิงอกุศลอีกประเภทหนึ่งที่ไม่แพ้อารมณ์ร้อนร้ายแรงอย่างอื่นๆเช่น อารมณ์อาฆาต อารมณ์พยาบาท อารมณ์โกรธ อารมณ์คับแค้นขุ่นเคืองต่างๆรวมทั้งอารมณ์น้อยอกน้อยใจทั้งหลาย อารมณ์เช่นนี้เกิดที่ใดเดือดร้อนที่นั่น อาการทางกายก็หาความสงบไม่ได้ จะนั่ง ยืน เดิน นอนก้อหาความสุขสบายใจไม่ได้เลย เพราะความร้อนที่เข้ามาเผาผลาญจิตใจผู้ที่เป็นเจ้าของอารมณ์นั้น ไฟแห่งความริษยาจะเผาไหม้ใจตนเองแต่ผู้เดียว คนอื่นเขาสบายดีไม่เดือดร้อน ถ้าเป็นเช่นนั้น ถือว่า ท่านล้มละลายในชีวิตทีเดียวล่ะ

เมื่อเรากล่าวถึงคำว่า “อารมณ์” มันก็หมายถึงอารมณ์ดี(สุข) อารมณ์ร้าย(ทุกข์) และทั้งไม่ดีไม่ร้าย(เฉยๆ) ถ้าเป็นอารมณ์ดีทุกอย่างก็ดูชื่นบานสดใส ร่มเย็น แต่เมื่อไรที่เป็นอารมณ์ร้าย ดูเหมือนทุกอย่างจะพังพินาจไปหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดีหรืออารมณ์ร้ายก็ตามทุกอย่างถูกปรุงแต่งขึ้นจากจิต ปรุงแต่งขึ้นจนเป็นสังขารเกิดมีตัวตน มีตัวกูขึ้นมาทันที ผูกแน่นยึดมั่นอยู่กับตัวกูอย่างมั่นคงแน่นหนาจนที่สุดปัญญาค่อยๆมืดบอด ถึงที่สุดไม่มีปัญญา หมดปัญญา ไม่เอาแล้วแสงธรรม คุณธรรม จริยธรรม ธรรมะใดๆก็ไม่เอาจะเอาแต่ตัวกูเท่านั้น หันมาพูดกันต่อเรื่องของ อารมณ์ริษยา หรือ ความริษยา อะไรคือริษยา เชื่อว่าทุกคนเคยมีอารมณ์นี้ อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต อารมณ์ริษยามักเกิดขึ้นในขณะที่ตนเองเผลอใจ เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ วัตถุปัจจัยสิ่งของ รูปร่างหน้าตา ความสุขความสบาย ยศฐาบรรดาศักดิ์ ความร่ำรวยเงินทองและต่างๆอีกมากมาย ไม่ยินดีในสิ่งที่ตนมี ไม่มั่นคงในตนเอง ไม่นับถือตนเอง ไม่รู้จักพอ อยากได้ อยากมี อยากเป็น นี่แหละคือเหตุของการเกิดอารมณ์ริษยา ความริษยาเป็นของร้อน เป็นยาพิษ เป็นความฉิบหาย บางครั้งอยากเติมคำว่า ฉิบหายขายตัวไปเลยด้วยซ้ำไป

ความริษยา กับความอิจฉาเป็นสิ่งเดียวกัน จึงมักเรียกให้คล้องจองกันว่า “อิจฉาริษยา” เมื่อไรที่เรารู้จักพอใจในตนเอง พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมี เคารพนับถือตนเอง เมื่อนั้นก็ไม่เกิดการเปรียบเทียบ อันนำไปสู่ความน้อยเนื้อต่ำใจเกิดอารมณ์หรืออาการแห่งความอิจฉาริษยาขึ้น ดูอย่างละครหลายๆเรื่องที่เขาต้องมี พระเอก นางเอก ผู้ร้ายและนางร้าย โดยเฉพาะนางร้ายก็จะได้อีกฉายาหนึ่งเป็นนางอิจฉาหรือนางริษยา (แต่ก็แปลกทำไมไม่เรียกตัวผู้ร้ายว่า นายอิจฉา หรือ นายริษยาบ้าง)

เหตุใดเราจึงมีความริษยาเคยลองคิดทบทวนบ้างหรือไม่ ส่วนมากมักลืมตัวกันทั้งนั้นปล่อยให้จิตใจเป็นไปตามอารมณ์ ความริษยาก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่เข้ามาครอบงำจิตใจของเรา จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากเราไม่สำรวมกายและไม่สำรวมใจ ขาดสติไม่รู้ตัว เพราะไม่กำหนดจิต ไม่กำหนดทวารทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ทำไมเราจึงต้องมีสติและต้องคอยกำหนดจิต เพราะเหตุว่าจิตของเราอยู่ใต้บังคับ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ารู้ไม่ทัน จิตก็หลง ดึงจิตไม่ทันจิตจะฟุ้ง คิดดูเผินๆเหมือนว่าจะทำได้ง่ายแต่แท้ทิ่จริงยาก เรื่องการกำหนดทวารทั้ง 5 นั้นต้องมีการฝึกฝนอบรมบ่มนิสัยอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย เป็นคนคิดก่อนทำไม่เผลอสติ ตรึกตรองยั้งคิดก่อนว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ไม่ขัดต่อศีลธรรมและกฏหมาย กำหนดจิตรู้ทันอารมณ์ ความจริงอยากจะเชิญชวนให้ผู้ที่เข้ามาอ่านบทความของเราได้ฝึกจิต ฝึกปฏิบัติ ฝึกรักษาศีล ฝึกการเป็นผู้ให้ และฝึกอะไรๆที่เป็นบุญ อย่างน้อยเย็นเป็นบุญเกิด เย็นไม่เป็นบาปเกิด และทำอย่างไรจึงเย็นเป็นบุญเกิด นั่นก็คือการละ ลด เลิกทิฐิ แล้วหันมาศึกษาวิถีแห่งพุทธศาสตร์ เดินตามเส้นทางแห่งการดับทุกข์ การพ้นทุกข์ เข้าสู่หนทางแห่งความดับเย็นคือ อริยมรรค มรรคมีองค์ 8 ประการ เหมือนยากแต่จริงๆแล้วถ้าเราพร้อมและมีอ่อนน้อมเริ่มให้ความสำคัญกับการก้าวเดินสู่จุดหมายคือ บรมสุข(ยังไม่ต้องพูดถึงนิพพานในเวลานี้นะเอาแค่สุขปัจจุบันให้สุขจริงทำได้ในชาตินี้ก่อน)
การกำหนดทวารทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
1. ตาเห็นรูป สักว่านั่นคือรูป เอาสติไว้ที่ตา ไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่เห็น ไม่หลงรูปมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
2. หูได้ยิน สักว่านั่นคือเสียง เอาสติไว้ที่หู ไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่ได้ยิน ไม่หลงในเสียงมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
3. จมูกได้กลิ่น สักว่านั่นคือกลิ่น เอาสติไว้ที่จมูกไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่ได้กลิ่น ไม่หลงในกลิ่นมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
4. ลิ้นได้รส สักว่านั่นคือรส เอาสติไว้ที่ลิ้น ไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่ได้ลิ้มรส ไม่หลงในรสมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
5. กายได้สัมผัส สักว่านั่นคือการสัมผัสถูกกาย ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นเรื่องของธรรมชาติ ตั้งสติไว้ที่กาย ไม่หลงในการสัมผัสมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์

ทำไมต้องกำหนดจิตดังนี้และต้องตั้งสติให้เท่าทันสิ่งที่สัมผัส เหตุเพราะเราและจิตของเราอยู่ภายใต้ อารมณ์แห่ง ความรัก โลภ โกรธ หลง ทั้งสิ้น ถ้าพิจารณาแล้วสิ่งต่างๆ เกิดจากการไม่รู้จริง นั่นคือโมหะ(ความไม่รู้ ความหลง)ต่อมาเป็นความถูกใจรักใคร่ยินดี คือ โลภะ(ความโลภ อยากได้ อยากมี อยากเป็น) และสุดท้ายปรุงแต่ง เป็นโทสะ(ความโกรธ ความพยาบาท ความมุ่งร้าย) เมื่อไม่ได้มาหรือได้มาแล้วต้องเสียไปให้ขัดเคืองในอารมณ์เกิดเป็นความร้อน ความร้ายตามมา

และนี่คือยาแก้ริษยาเลิกเปรียบเทียบ เลิกน้อยอกน้อยใจ เลิกทะเยอทะยานแบบผิดๆ และที่สุดให้มีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมมีวาสนา มีบุญกุศลติดตามมาตนมาแต่ชาติปางก่อนกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม แข่งเรือแข่งพายแข่งได้แต่แข่งบุญแข่งวาสนานั้นแข่งยาก ณ วันนี้ชาตินี้ต่างหากที่สำคัญว่าเราสร้างบุญบารมีวาสนาของตนหรือยัง บุญซื้อไม่ได้ขายไม่ได้ ใช่สักแต่ว่ามีเงินทองมีอำนาจลาภยศก้อจะสำเร็จ หรือทำบุญให้เหนือกว่าคนอื่นมากกว่าคนอื่นแล้วจะสำเร็จเป็นมรรคเป็นผล แต่จะทำอย่างไรให้บุญที่สร้างขาวสะอาดที่สุดบริสุทธิ์ปราศจากราคิน เป็นบุญใสดังแก้วกัลปพฤกษ์นั่นคือ บุญสำเร็จได้ด้วยปัญญา เจตตาอันศรัทธาในพระรัตนตรัยแท้ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ยิ่ง และการทำจิตใจให้ขาวรอบนั่นคือ หัวใจของบุญ

ความเมตตาต่อตนเองและเมตตาต่อผู้อื่นเสมอด้วยตนเอง คือ มหาบุญ มหากุศล ที่ไม่มีขายที่ไหนนอกจากจิตใจของตนเอง เมตตาธรรมค้ำจุนโลก คือ สัจจะวาจาที่ไม่เคยล้าสมัย


ขอบารมีธรรมจงรักษาคนรักษาธรรม
เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม

วันอังคารที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เมตตาธรรมจากพลโลก

เมตตาธรรมจากพลโลก

เพียงกล่าวคำว่า “เมตตา” ทุกคนส่วนมากก็รู้สึกได้ถึงความเย็นและความสุข คำว่า เมตตา ทำให้จิตใจคลายจากความเร่าร้อนได้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจน่าแปลกประหลาดสิ่งที่ควรสังเกตุน่าพิจารณาคำเดียวคำนี้ คือคำว่าเมตตาทำไมถึงมีอิทธิพลต่อจิตใจได้ของคนและสัตว์ทั้งหลายได้อย่างมากมายเพียงนี้ แน่นอนไม่มีใครชื่นชอบหรือยินดีกับความร้อนของความอาฆาตพยาบาทความริษยาต่างๆพอกล่าวคำว่า อาฆาตพยาบาทเหล่านี้ก็ร้อนอกร้อนใจได้ทันทีเช่นกันทั้งๆที่มีเหตุหรือไม่มีเหตุแค่ได้ยินก็ร้อนแล้ว

ความเมตตากรุณา เป็นความสุขอย่างยิ่ง มันเป็นสุขอย่างยิ่งได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราจะมาพูดกันในวันนี้ ใครบ้างไม่อยากให้คนอื่นมารักมาเมตตาตนเอง ทุกคนล้วนอยากได้รับความเมตตาจากผู้อื่น และจะมาสักกี่คนที่อยากจะมอบความเมตตาอย่างไม่มีสิ้นสุดให้กับคนอื่นๆเช่นกัน โดยมากแล้วปุถุชนนิยมการเป็นผู้รับมากกว่าการเป็นผู้ให้ แต่ถ้าหากต้องให้แล้วล่ะก้อมักจะมีเลศอยู่ภายในว่า จะได้รับอะไรเป็นสิ่งตอบแทน จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตนหยิบยื่นออกไป เมื่อไม่ได้สิ่งตอบแทนความเมตตานั้นก็ดูน่าเสียดาย น่าเสียหายไปเสียนั่น ช่างน่าขำเมื่อเมตตาแล้วทำไมต้องมีการหวังสิ่งตอบแทนด้วยเล่า ถ้าหวังผลก็ไม่เรียกว่า เมตตา กรุณาน่ะสิ

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ลองมาพินิจพิจารณาคำว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลก กันดูบ้าง ความเมตตาจะค้ำจุนโลกได้อย่างไร ลองนึกถึงภาพของคำว่าค้ำจุน ค้ำจุน คงเป็นภาพของคนยืนอยู่ แล้วยื่นแขนออกไปเหนือศรีษะเพื่อยกหรือแบกโลกไว้ แต่โลกมันใบใหญ่มากก็คงต้องใช้คนหลายๆคนหรือคนทั้งโลกให้มาช่วยกันยื่นแขนออกไปยกหรือแบกหรือค้ำโลกไว้ แต่ถ้าทำเช่นนั้นนานๆคงไม่ไหว เพราะอาการของทุกขเวทนาจะเกิดขึ้น เช่น ความปวดเมื่อย ความเบื่อหน่ายและอ่อนล้า เกิดการบ่ายเบี่ยง ที่สุดคือหมดแรง แล้วต่างคนคงเอามือลงปล่อยให้โลกเป็นไปตามยถากรรมต่อไป ก็ทำไมเป็นเช่นนั้น นั่นเพราะคนยังไม่เห็นประโยชน์ของการมีเมตตากรุณา และการช่วยเหลือกันในระหว่างพลโลก การเสียสละส่วนตัวเล็กๆน้อยๆเพื่อยังประโยชน์ให้กับผู้อื่น เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง เพราะยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำแล้วได้อะไร นี่คือสิ่งที่น่ากลัว มันน่ากลัวและน่ารังเกียจอีกด้วย เมื่อท่านกล่าวว่า ทำแล้วได้อะไร จะมีใครเห็นหรือไม่ นั่นหมายถึงถ้าไม่มีใครเห็นไม่ได้รับผลประโยชน์ก็ไม่ต้องเสียสละไม่ต้องเมตตาเช่นนั้นหรือ

เมตตาธรรมจากพลโลก พลโลกหมายถึงอะไร เกี่ยวข้องอะไรกับเราด้วย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า พลโลก ดังนั้นนั่นหมายถึง ทุกคน ทุกบ้าน ทุกตำบล-อำเภอ และทุกประเทศชาติ ทุกชนเผ่า ทุกสีผิว ทุกชั้นวรรณะ ไม่มีแบ่งแยกนั่นคือพลโลก เราทุกคนอยู่ในบ้านหลังเดียวกันนี่เป็นบ้านหลังใหญ่ มีฟ้าเป็นพ่อ มีแผ่นดินเป็นแม่ และมีทรัพย์พยากรณ์ธรรมชาติเป็นญาติพี่น้องของเรา แต่พวกเรากลับไม่รักพ่อไม่รักแม่ไม่รักพี่น้องของตัวเอง มีจิตคิดเข่นฆ่าญาติร่วมสายโลหิตกันเองตลอดเวลา ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น ลองมาพิจารณาดู เริ่มต้นจากการเกิดเมื่อเราจุติลงสู่ครรภ์มารดา ท่านก็เริ่มรับประทานอาหาร น้ำ หายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านจากร่างกายของมารดา ซึ่งมีบิดาเป็นผู้บำรุงเลี้ยงอีกทอดหนึ่ง สิ่งใดบ้างที่เรารับประทานลงไปหรือสูดอากาศหายใจเข้าไป เชื่อมโยงจากธรรมชาติและพลโลกทั้งสิ้น ท่านลองขึ้นไปบนเครื่องบินแล้วมองลงมาท่านจะเห็นเส้นใยแห่งชีวิตที่เชื่อมโยงอยู่บนพื้นผิวโลกเฉกเช่นกับใยแมงมุมสานต่อกันไปตลอดครอบคลุมทั่วโลกทั้งใบ ทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องและมีผลกระทบแก่กันและกันทั้งสิ้น เมื่อมีชีวิตอยู่จะนั่ง เดิน ยืน นอนล้วนต้องสัมผัสกับแผ่นดิน อากาศ และน้ำ เป็นกระแสคลื่นต่อเนื่องกันไปไม่หยุดและไม่มีที่สิ้นสุด ทุกอย่างสัมผัสกันอย่างไม่มีช่องว่างแม้เพียงปลายเข็มลอดได้ เมื่อตายก็สลายกลับกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ย่อยสลายกลายเป็นธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พืชพันธุ์ธัญญาหาร สรรพสัตว์ทั้งหลายและกระทั้งอากาศ ล้วนเป็นเลือดเนื้อและชีวิตของญาติพี่น้องและตัวเราเองทั้งสิ้นที่เวียนว่ายตายเกิดหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปมา ท่านรู้หรือไม่ว่าบางครั้งที่นั่งที่นอนที่ยืนที่เดินในขณะนี้อาจจะเป็นบริเวณที่เราเคยฝังศพตัวเองไว้แต่อดีตชาติ หรือหมู หมา กาไก่ที่เรากินหรือเลี้ยงดูอยู่นั้นอาจจะเป็นพ่อ แม่ พี่น้องของเราก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ชวนคิด ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามทุกอนูธาตุ ทั้งของเราเองและของผู้อื่นล้วนหมุนเวียนมาสู่ตัวเราเองทั้งสิ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นร่างกาย ทรัพย์สิน กระทั่งมูตรคูต(ของเสียในกาย) ต่างๆเหล่านี้ ก็จะถูกจัดสรรวนเวียนมาสู่ตัวเราอีกทุกครั้งที่เราเกิดอยูนั่นเอง ไม่มีอะไรหายไปอย่างไร้ร่องรอย ทุกอย่างเวียนว่ายตายเกิดวนเวียนไปมาเป็นของส่วนกลางของโลก นั้นก็แสดงว่า การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง กฏแห่งกรรมมีจริง ทำไมจึงต้องกลับมากล่าวถึงเรื่องของกฏแห่งกรรมด้วย ก็เจ้ากฎแห่งกรรมนี่แหละคือใจกลาง ศูนย์กลางและเป็นตัวบงการอีกด้วย กฎแห่งกรรมคือต้นเหตุของสรรพสิ่งทั้งปวง ที่ทำให้เกิดอะไรๆต่างๆมากมาย ถ้ากรรมหมดทุกอย่างก็หมด หมดภพ หมดชาติไปด้วย เรื่องกรรมเมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่มีกรรม(เป็นสุญญตา)ทุกอย่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างไม่มีข้อหลีกเลี่ยง ดังนั้นไม่ว่าพลโลกจะทำอะไรลงไปทั้งดีทั้งชั่วย่อมได้รับผลของกรรมนั้นร่วมกันทั้งหมด ทั้งเปิดเผยและแอบแผงในเชิงบวกและลบเสมอ แต่วันนี้เราพูดกันในเรื่องของพลโลก ดังนั้นจึงเป็นกรรมร่วมกันทั้งคณะทั้งโลก นอกเสียจากเราออกไปนอกโลก แต่เดี๋ยวนี้ถึงออกไปล่องลอยอยู่นอกโลกในชั้นบรรยากาศก็ยังไม่พ้นเรื่องของกฎแห่งกรรมที่พลโลกสร้างไว้ เพราะในชั้นบรรยาการก็แปรปรวนเหมือนกันเพราะฝีมือของพลโลกทั้งสิ้น ถ้ามองลงไปใต้ดิน ใต้น้ำ ก็ได้รับผลกรรมกันทั่วถึงไปหมด หวั่นไหว น่าหวาดเสียวและน่าหวาดกลัว ผลกรรมของพลโลกที่สร้างไว้อย่างขาดความยั้งคิด ที่พูดทั้งหมดนี้เหมือนกับว่าจะมารณรงค์ให้รักธรรมชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติ รักโลก ใบน้อยที่อาภัพเพราะมีคนไม่เห็นคุณค่าไม่เห็นคุณประโยชน์และบุญคุณของโลก นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่ตั้งใจจริงมันมากกว่านั้น คือ ต้องการรณรงค์ให้ทุกคนเจริญเมตตา เจริญกรุณาต่างหาก

ความเมตตากรุณา คือความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ และปราถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข ผู้อื่นคือคนอื่นและกระทั่งตนเองก็อยากพ้นทุกข์และมีความสุขเฉกเช่นกันมิใช่หรือ ถ้าทุกคนมีใจเมตตากรุณาโดยทั่วกันที่สุดก็เป็นวงกลมวนมาบรรจบที่ตัวเราประโยชน์ต่างๆย่อมไม่ไปไหนเสีย พลโลกและทรัพย์พยากรณ์ของโลก ก็มีความสุข มีความสมัคคี มีความสงบเย็นสบายโดยทั่วทุกชาติ ทุกบ้านเรือนที่สุดทุกชีวิตล้วนปลอดภัยมีความสุข แต่ถ้าไม่เช่นนั้นมัวแต่กอบโกยเพราะเอาประโยชน์ใส่ตัวโยนโทษให้ผู้อื่นซึ่งจริงๆแล้วจะโยนไปไหนก็วนเวียนกลับมายังตัวเราเองเสมอเพราะทุกอย่างล้วนร่วมกันดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น โลกก็เดือดดาลเกิดความเดือดร้อนเกิดเป็นเพทภัยต่างๆ อย่างที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับกรรมอย่างน่าเศร้าสลดใจดังที่ผ่านๆมา เพียงพวกเราเมตตากรุณากันและกัน เผื่อแผ่ เผยแผ่ความเมตตาไปยังธรรมชาติรอบตัว ระวังทั้งการสร้าง(วัตถุ) และการทำลาย(ธรรมชาติ)เท่านี้ความเมตตาก็จะค้ำจุนโลก เมื่อโลกได้รับความเมตตาพวกเราก็จะ สงบ สุข สบาย และพ้นจากภัยมืดที่น่ากลัวทุกประการ ช่วยกันหยิบยื่นความเมตตาขึ้นไว้เหนือศรีษะให้เกิดเป็นเครื่องค้ำยัน ค้ำจุนโลกกันเถอะ วันนี้เรามีเมตตาแล้วหรือยัง

ขอให้ทุกท่านที่เจริญเมตตากรุณา จงได้รับความรักและความเมตตากรุณาเป็นสิ่งตอบแทนทุกท่านทุกคนเทอญ.

เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม