วันพุธที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ความอาฆาตเป็นไฟ-ดับได้เย็นสบาย

ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน, ความตายเป็นของยั่งยืน, อันเราจะพึงตายเป็นแท้, ชีวิตของเรา มีความตาย เป็นที่สุดรอบ, ชีวิตของเราเป็นของไม่เที่ยง, ความตายของเราเป็นของเที่ยง, ควรที่จะสังเวช,ร่างกายนี้, มิได้ตั้งอยู่นาน, ครั้นปราศจากวิญญาณ, อันเขาทิ้งเสียแล้ว, จักนอนทับ, ซึ่งแผ่นดิน, ประดุจดังว่าท่อนไม้และท่อนฟืน, หาประโยชน์มิได้, สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ, มีความเกิดขึ้นแล้วมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา, ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป, ความเข้าไปสงบระงับ สังขารทั้งหลายเป็นความสุขอย่างยิ่ง

นี่คือคำแปลบทพระธรรมจากส่วนหนึ่งของบทพิจารณาสังขาร อ่านแล้วรู้สึกอย่างไร สำหรับผู้เขียนรู้สึกทันทีที่อ่านจบว่า ชีวิตนี้สั้นหนอ ชีวิตนี้มีความตายเป็นที่สุดหนอ และชีวิตที่เหลือจากนี้ไปไม่เที่ยงหนอ นี่คือความรู้สึกส่วนตัวซึ่งเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดไม่มีอะไรเด่นกว่านี้อีกแล้ว สุดท้ายยังรู้สึกอีกว่า เรามีความตายเป็นของเที่ยงจริงๆ ต่อจากนี้ไปทุกลมหายใจ เข้า-ออกล้วนต้องมีประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว หากเป็นสิ่งที่ชั่วขุ่นมัวเราของดเว้น หากเป็นสิ่งดีสิ่งประเสริฐต่อตนและต่อผู้อื่นจะรีบขวนขวายเร่งกระทำต่อไปจนกว่าความตายที่เป็นของเที่ยงจะมาถึง เพื่อหัวใจที่สงบและสะอาดเท่านั้น

ครั้งหนึ่ง ในชีวิตเราเคยโกรธ ครั้งหนึ่งในชีวิตเราเคยเกลียด ครั้งหนึ่งในชีวิตเราเคยแอบน้อยใจ ครั้งหนึ่งในชีวิตเราเคยอิจฉาริษยา และครั้งหนึ่งในชีวิตเราเคยท้อแท้ถดถอย ครั้งหนึ่งในชีวิตเราเคยอาฆาตพยาบาทจองเวรและคิดชั่วกับผู้อื่นและต่อตนเองจะด้วยเพราะเหตุไรก็ตาม ขอให้สังเกตว่าในขณะนั้น หัวใจมันร้อน พุพอง ปวดแสบปวดร้อน นอนไม่ได้ กินไม่ได้ ดิ้นรนทุรนทุราย ลูบคลำใจทีไรเหมือนมีหนามมาทิ่มแทง นี่หรือความสุขที่เก็บไว้แนบอก แต่ถ้าลองมองย้อนไปตอนที่หัวใจในขณะมีเมตตา กรุณา หรือช่วงเวลาที่ใจมันเฉยๆ ตอนนั้นใจมันสุข นุ่มนวล เย็นสบาย และชุ่มชื้นชื่นอกชื่นใจอิ่มเอิบ อย่างน่าประหลาดและน่าประคับประคองให้อยู่ในใจในกายไปตลอด ท่านเคยรู้สึกอย่างที่พูดนี้หรือไม่
เราเคยพร่ำบ่นหาเหตุผลของความอาภัพในชีวิตต่างๆนานาไหมว่า ทำไมความโชคร้ายจึงต้องมาเกิดขึ้นกับเราด้วย นั่นเพราะเรามัวมองแต่ตัวเอง มองครอบครัวคนรักของตัวเอง มองแต่จิตใจของตัวเอง แทบจะไม่เคยเงยหน้าไปมองสิ่งรอบข้าง คนรอบข้าง สังคมรอบข้างให้กว้างกว่านี้อีกสักนิด มองด้วยจิตใจที่ยุติธรรม และด้วยความเมตตาต่อเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างจริงจังสักครั้ง พวกเราสนใจแต่ตัวเองเท่านั้น นี่คนส่วนมากมักเป็นเช่นนี้ เมื่อไม่เคยมองคนอื่น โลกก็แคบไปอย่างถนัดตา ทุกอย่างล้วนดึงเข้ามาหาตัวเอง เอาเข้ามา เอาเข้ามา สูญเสียไปไม่ได้ ถ้าต้องมีการเสียก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนที่พึงพอใจ หากไม่เป็นที่พึงพอใจล้วนขัดใจในทันที นี่แหละหนอผู้ประมาทลืมความตาย การตายเป็นและการตายจาก ทุกอย่างล้วนต้องพลัดพรากไปในที่สุด แม้แต่ตัวเรา ร่างกายของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา และ คนรักของเราก็ต้องสละและต้องทิ้งไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นของเราจริงสักอย่าง ความยึดเป็นทุกข์ ทุกครั้งที่รู้ว่ายึดสังเกตได้ว่าใจมันคับแคบ ใจมันฟั่นเฝือ ใจมันหวาดระแวง เพราะกลัวสิ่งที่ยึดหายไป ยิ่งถ้าหายไปเพราะถูกยื้อแย่งด้วยแล้ว นอกจากจะรู้สึกสูญเสียแล้วยังเกิดความโกรธแค้น และที่สุดความรู้สึกโกรธแค้นนั้นก็กลายสภาพเป็นความพยาบาทอาฆาต ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะ เขาเหล่านั้นไม่เชื่อในธรรม ไม่เข้าใจในกฎแห่งธรรมชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ทรงตรัสไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้น ล้วนตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นที่สุด มีรักมีชัง มีได้มามีเสียไป มียกย่องมีนินทา มีดำมีขาว มีได้ยศมีลาภมีเสื่อมยศเสื่อมลาภ นี่คือโลกธรรมแปด ถ้าเข้าใจก็หมดทุกข์ ไฟอาฆาตดับ ความเย็นของสายธารธรรมเข้ามาอาบชโลมใจให้เราได้ร่มเย็นเป็นสุข และที่สุดเกิดความเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น โลกก็เกิดสันติสุข สันติสุขที่ใครๆถามหาแต่ไม่มีคนเริ่มต้นสร้างสันติสุข เพราะมัวแต่เกี่ยงกันและชิงดีชิงได้มากกว่ายอมเสียสละ การเป็นผู้ให้และการให้ที่ดีที่สุดนั้นคือ การให้อภัย ทั้งการให้อภัยผู้อื่นและให้อภัยตนเอง ให้โอกาสการเริ่มต้นใหม่กับโลกใบใหม่ของพวกเราทุกคน ทุกอย่างล้วนอยู่ภายใต้กฏแห่งธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป นี่คือ กฏแห่งพระไตรลักษณ์

ทีนี้เรามากล่าวถึงเรื่องของความอาฆาต ตัวอาฆาตนี้เป็นตัวอันตรายที่สุด พอกล่าวคำว่า “อาฆาต” ก็ควรต้องมีคำว่า “พยาบาท” เข้ามาด้วยรวมเป็น อาฆาตพยาบาท หรือ พยาบาทอาฆาต เพียงได้พูดคำนี้ อาฆาต หรือ พยาบาท แค่นี้ยังรู้สึกสัมผัสถึงความโหดเหี้ยม ดุร้ายได้ในทันที มันเป็นความรู้สึกอยู่ภายในว่า น่ากลัว ร้อนลุ่มและไม่เป็นสุข เห็นทีความสุขจะไม่มีแน่ถ้าหากมีความอาฆาตพยาบาทเข้ามาใกล้หรือมาสิงสถิตกับเราหรือกับครอบครัวของเรา ความอาฆาตเกิดขึ้นที่ใดที่นั้นล้วนหายนะ ทั้งผู้ที่ผูกอาฆาตและผู้ถูกปองร้ายด้วยความอาฆาตต้องเดือดร้อนด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครได้รับความสุขสงบไปได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น คน สัตว์ หรือวิญญาณ เมื่อไฟอาฆาตเข้ามาแผดเผาก็ล้วนแต่มอดไหม้ด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งอาฆาตมากเท่าไรความเสื่อม ความฉิบหายยิ่งรุนแรงเท่านั้น ไฟแห่งความอาฆาตสร้างความเศร้าสลดสังเวชใจยิ่ง โดยเฉพาะกับผู้ที่ยึดถือมันมาเป็นอารมย์ ยามหลับก็ยากที่จะหลับตานอน ยามตื่นก็พลุ่งพล่านดังน้ำในกะทะทองแดงรดรินใจให้เดือดพล่าน จะกินจะดื่มคอหอยก็ตีบตันไปเสียสิ้น ช่างทรมานกาย-ใจอย่างแสนสาหัส แววตาจากความเป็นมนุษย์กลายเป็นแววตาแห่งปีศาจร้าย ที่สุดจิตใจที่เคยอ่อนโยนกลับกลายเป็นจิตใจแห่งอสูรร้ายไปในทันที นี่แหละพลานุภาพร้ายแห่งความอาฆาตที่ทำลายล้างทุกผู้คนทุกตัวตนให้พินาศย่อยยับไปในที่สุด แล้วเรายังต้องการให้เจ้าตัวความอาฆาตมาผูกมิตรกับเราอีกหรือ เรายังรักมันอีกหรือ ในเมื่อมันไม่เคยสร้างสรรสิ่งที่ดีงามให้กับใครมีแต่จะทำลายล้างให้พินาศย่อยยับเพียงฝ่ายเดียวทั้งในโลกนี้และโลกหน้า มีความขาดทุนในการดำเนินชีวิตสถานเดียวเท่านั้น ผลที่ได้รับก็ไม่คุ้มค่า อาจจะได้รับโทษทัณฑ์จากกฏหมาย เมื่อตายไปก็ไปสู่นรกอเวจีเป็นที่หวัง ยิ่งถ้าตายในขณะที่จิตผูกพยาบาทอาฆาตด้วยแล้ว ดวงจิตนั้นจะพุ่งตรงลงสู่เหวนรกที่ต่ำที่สุดไม่มีโอกาสที่จะได้รับส่วนบุญส่วนกุศลจากใครได้เลย ทั้งมืดมิดทุกข์ ทรมานตราบนานเท่านานกว่าจะพ้นจากทุกข์นั้น ไม่น่าลงทุนกับเจ้าความอาฆาตแม้แต่สักนิดเดียว มันเป็นทุกข์ตั้งแต่ยังไม่ตายต่อเมื่อตายแล้วยังทุกข์อยู่ ครั้นได้ไปเกิดใหม่เพราะแรงอาฆาต ชีวิตใหม่ย่อมหาความสงบสุขไปไม่ได้

การให้อภัยเป็นการแก้แค้นที่ดีที่สุด เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ล้วนอยู่ภายใต้กฏแห่งกรรม

ไม่ว่าเราท่านทั้งหลายจะกระทำอะไรก็ตามทุกอย่างล้วนเป็นการกระทำที่ถูกจดบรรทึกโดยกรรมทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อบัญชีกรรมมีการจดบรรทึกอยู่ทุกตัวอักษร ทุกอักขระ ทุกพยัญชนะอย่างละเอียดปานนี้ แน่นอนไม่มีสัตว์หรือมนุษย์ตนใดหน้าไหนจะพ้นจากกรรมของตัวเองไปได้ ต้องได้รับผลกรรมของตนทั้งสิ้น สรุปได้ว่า เราจะอาฆาตทำลายล้างผู้ที่มาทำร้ายเรา หรือ แม้แต่การกระทำที่ตนทำร้ายตัวเอง ที่สุดการตกเป็นโจกย์หรือจำเลยของตนนั้น ทุกหยดของกรรมย่อมให้ผลกับเราอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ทั้งสิ้น อย่างสาสมเต็มเม็ดเต็มหน่วยจนกว่าจะสำนึกได้และเข้าใจชีวิต นั่นหมายถึงเข้าใจกรรม ต่อเมื่อการเริ่มต้นใหม่ที่เข้าใจกรรม ในลมหายใจที่เป็นการสร้างสมความสงบอันเป็นบุญเป็นกุศล นั่นแหละไฟอาฆาตจึงค่อยๆ ดับเย็นลง ความสงบและความเคารพในธรรม เชื่อในกฏแห่งกรรมเราก็จะรู้ว่าทุกชีวิตเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร เมื่อรู้จักกรรม ก็รู้จักธรรม รู้จักทุกข์เข้าใจในทุกข์ เราก็จักเริ่มมองเห็นฝั่งอันเป็นที่สุดแห่งแดนเกิด.
ขอความสงบเย็น และ สายธารแห่งธรรม จงช่วยดับไฟให้กับผู้ที่เคารพในพระรัตนตรัยและเคารพในธรรมทุกท่าน ความยุติธรรมของกรรมซึ่งเป็นธรรมชาติแท้จงมีแด่ผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่านเทอญ.

เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม

วันศุกร์ที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ธรรมกับความรักและการแต่งงาน

ความงดงามของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงที่มีความหลากหลายของธรรมเหมือนกับสวนไม้ดอกนานาพรรณมีดอกไม้หลากสีสันให้คนเลือกเก็บได้ตามต้องการ ธรรมมีจำนวนมากมายหลายประเภทพร้อมที่จะให้แต่ละคนเลือกนำไปปฏิบัติได้ตามความต้องการ ใครอยากไปนิพพานก็มีโลกุตรธรรมสำหรับคนที่ต้องการพ้นโลก ส่วนใครที่อยากประสบความสำเร็จในโลกนี้ก็มีโลกิยธรรมให้นำไปปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบันสำหรับสามีภรรยาที่ต้องการความสำเร็จในชีวิตการแต่งงานก็มีธรรมสำหรับคนครองเรือนให้เลือกปฏิบัติ เป้าหมายแห่งการแต่งงานอยู่ที่การสร้างครอบครัวที่มีแต่ความรักใคร่กลมเกลียวโดยไม่มีการหย่าร้าง สามีภรรยาจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติธรรมร่วมกัน การปฏิบัติธรรมจะช่วยให้ชีวิตคู่เข้มแข็งมั่นคงพอที่จะฝ่ามรสุมต่างๆไปได้ ดังนั้น คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีชีวิตการแต่งงานที่ยั่งยืนตลอดไปต้องร่วมกันปฏิบัติธรรม
คำว่า ธรรม ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมและจริยธรรม
คุณธรรม ได้แก่ คุณสมบัติที่ดีภายในจิตใจ เช่น ความรัก ความสงสาร ซึ่งช่วยให้คนเราทำหน้าที่ของสามีภรรยาได้โดยไม่ต้องฝืนใจ
จริยธรรม ได้แก่ หลักแห่งความประพฤติที่ดีงามที่จะต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ครอบครัว และสังคม จริยธรรมเป็นข้อปฏิบัติซึ่งกำหนดไว้โดยศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและกฎหมายว่าอะไรเป็นหน้าที่ที่สามีภรรยาจะต้องทำเพื่อความผาสุกแห่งครอบครัว

จริยธรรมเป็นเรื่องการควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและทางวาจา ซึ่งคนอื่นสามารถรับรู้และประเมินได้ว่าเรามีจริยธรรมมากน้อยเพียงใด เช่น การที่สามีภรรยาต้องให้เกียรติกันและกันเป็น
จริยธรรมอย่างหนึ่ง คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ว่าสามีภรรยาคู่นี้ให้เกียรติกันและกันหรือไม่ ตรงกันข้ามกับคุณธรรมซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจซึ่งยากที่คนทั่วไปจะตรวจสอบได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ความรักเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง คนอื่นไม่สามารถจะมองเห็นความรักภายในจิตใจของเราว่ามีมากน้อยเพียงใด เท่าที่คนทั่วไปจะทำได้ก็คือคาดคะเนจากพฤติกรรมภายนอกของเราว่าเรามีความรักในใจมากน้อยแค่ไหน
คุณธรรมเป็นรากฐานของจริยธรรม เมื่อสามีมีคุณธรรม คือ ความรักภรรยาอยู่ในหัวใจ เขาก็จะปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยาโดยไม่ต้องฝืนใจ ความรักทำให้สามียอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อครอบครัวของเขา ดังนั้น ความรักจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตการแต่งงาน คู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันด้วยความรักจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีกว่าคู่ที่แต่งงานกันโดยไม่มีความรัก เพราะความรักจะทำให้คู่รักยอมลงให้กันและทนกันได้

คำว่า ความรัก ในพระพุทธศาสนา มี ๒ ประเภท ดังนี้
๑. เปมะ ได้แก่ ความรักใคร่หรือความรักแบบโรแมนติกซึ่งเกิดจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ (๑) บุพสันนิวาสหญิงชายเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อนเมื่อเกิดใหม่มาพบกันในชาตินี้จึงเป็นเนื้อคู่กันและรักกัน (๒) การดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความรัก แม้หญิงชายจะไม่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ทั้งคู่ก็รักกันได้เพราะความมีน้ำใจของอีกฝ่ายหนึ่งที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
๒. เมตตา ได้แก่ ความปรารถนาดีหรือความหวังดีที่จะให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งเกิดจากการมองเห็นความดีงามหรือความน่ารักของคนอื่นแล้วเกิดความประทับใจจนถึงกับคิดส่งเสริมให้เขามีความดีงามหรือความน่ารักยิ่งๆขึ้นไป
ชีวิตการแต่งงานจะยั่งยืนนานถ้ามีความรักทั้งสองอย่าง คือ มีทั้งความรักแบบโรแมนติก และ ความรักแบบเมตตาเป็นพื้นฐาน ความรักแบบโรแมนติกสร้างความสุขความเพลินใจเมื่ออยู่ใกล้คนรัก แต่ไฟแห่งความรักใคร่มักโชติช่วงอยู่ได้ไม่นาน ความเคยชินเพราะอยู่ด้วยกันมานานมักทำให้ความรักใคร่จืดจางไปได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมีความรักแบบเมตตาตามประกบความรักใคร่เพื่อให้ความรักยั่งยืนยาวนาน
ความรักแบบโรแมนติกถูกความน่ารักน่าปรารถนาของคู่ครองเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดอารมณ์รัก ความรักใคร่นี้มีธรรมชาติไม่แน่นอน เวลาใดคนรักทำตัวมีเสน่ห์น่ารัก เวลานั้นอารมณ์รักใคร่ก็จะเบ่งบานมีพลัง เวลาใดคนรักเอาแต่ใจทำตัวไม่น่ารัก เวลานั้นความรักใคร่ก็จะอับเฉาร่วงโรย ความรักใคร่แบบโรแมนติกจึงมีสภาวะขึ้นลงตามปัจจัยเงื่อนไขภายนอกอัน ได้แก่ กิริยาอาการของคนรักเป็นสำคัญ
ความรักใคร่แบบโรแมนติกเกิดโดยสิ่งเร้าภายนอกจากคนรักเป็นสำคัญจึงมีสภาวะไม่คงที่ถาวร สามีภรรยาที่ประสงค์จะทำให้ความรักใคร่เข้มแข็งมั่นคงต้องผสมความรักแบบโรแมนติก ด้วยความรักแบบเมตตา
ความรักแบบโรแมนติกเปรียบเหมือนรถยนต์ที่อาศัยคนอื่นคอยเติมเชื้อเพลิงให้อยู่เสมอจึงจะแล่นไปได้ แต่ความรักแบบเมตตาเปรียบเหมือนรถยนต์ที่เจ้าของผลิตเชื้อเพลิงได้เองอย่างไม่มีขีดจำกัดจึงแล่นไปได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะความรักแบบเมตตาเป็นสิ่งที่ใจเราสร้างขึ้นมาเองด้วยการฝึกมองให้เห็นความดีงามของคนอื่น คนเราจะมีเมตตาในใจได้ต้องฝึกมองโลกในแง่ดี ถ้าสามีภรรยาสามารถฝึกใจให้มองแต่แง่ดีของคู่ครอง ต่างฝ่ายต่างจะรักกันและกันได้ตลอดเวลาแม้แต่ในยามที่อยู่ด้วยกันมานานจนข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มปรากฏออกมา สามีภรรยาต้องสามารถทำใจให้มองข้ามข้อบกพร่องเหล่านั้นและเพ่งความสนใจไปอยู่ที่ความดีงามของคู่ครอง ดังคำประพันธ์ที่ว่า

มองโลกแง่ดีมีผล เห็นคนอื่นดีมีค่า ปลุกใจให้เกิดศรัทธา ตั้งหน้าทำดีมีคุณ