วันพุธที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ความริษยา

วันนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องของอารมณ์ริษยา ซึ่งเป็นอารมณ์ในเชิงอกุศลอีกประเภทหนึ่งที่ไม่แพ้อารมณ์ร้อนร้ายแรงอย่างอื่นๆเช่น อารมณ์อาฆาต อารมณ์พยาบาท อารมณ์โกรธ อารมณ์คับแค้นขุ่นเคืองต่างๆรวมทั้งอารมณ์น้อยอกน้อยใจทั้งหลาย อารมณ์เช่นนี้เกิดที่ใดเดือดร้อนที่นั่น อาการทางกายก็หาความสงบไม่ได้ จะนั่ง ยืน เดิน นอนก้อหาความสุขสบายใจไม่ได้เลย เพราะความร้อนที่เข้ามาเผาผลาญจิตใจผู้ที่เป็นเจ้าของอารมณ์นั้น ไฟแห่งความริษยาจะเผาไหม้ใจตนเองแต่ผู้เดียว คนอื่นเขาสบายดีไม่เดือดร้อน ถ้าเป็นเช่นนั้น ถือว่า ท่านล้มละลายในชีวิตทีเดียวล่ะ

เมื่อเรากล่าวถึงคำว่า “อารมณ์” มันก็หมายถึงอารมณ์ดี(สุข) อารมณ์ร้าย(ทุกข์) และทั้งไม่ดีไม่ร้าย(เฉยๆ) ถ้าเป็นอารมณ์ดีทุกอย่างก็ดูชื่นบานสดใส ร่มเย็น แต่เมื่อไรที่เป็นอารมณ์ร้าย ดูเหมือนทุกอย่างจะพังพินาจไปหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดีหรืออารมณ์ร้ายก็ตามทุกอย่างถูกปรุงแต่งขึ้นจากจิต ปรุงแต่งขึ้นจนเป็นสังขารเกิดมีตัวตน มีตัวกูขึ้นมาทันที ผูกแน่นยึดมั่นอยู่กับตัวกูอย่างมั่นคงแน่นหนาจนที่สุดปัญญาค่อยๆมืดบอด ถึงที่สุดไม่มีปัญญา หมดปัญญา ไม่เอาแล้วแสงธรรม คุณธรรม จริยธรรม ธรรมะใดๆก็ไม่เอาจะเอาแต่ตัวกูเท่านั้น หันมาพูดกันต่อเรื่องของ อารมณ์ริษยา หรือ ความริษยา อะไรคือริษยา เชื่อว่าทุกคนเคยมีอารมณ์นี้ อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต อารมณ์ริษยามักเกิดขึ้นในขณะที่ตนเองเผลอใจ เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ วัตถุปัจจัยสิ่งของ รูปร่างหน้าตา ความสุขความสบาย ยศฐาบรรดาศักดิ์ ความร่ำรวยเงินทองและต่างๆอีกมากมาย ไม่ยินดีในสิ่งที่ตนมี ไม่มั่นคงในตนเอง ไม่นับถือตนเอง ไม่รู้จักพอ อยากได้ อยากมี อยากเป็น นี่แหละคือเหตุของการเกิดอารมณ์ริษยา ความริษยาเป็นของร้อน เป็นยาพิษ เป็นความฉิบหาย บางครั้งอยากเติมคำว่า ฉิบหายขายตัวไปเลยด้วยซ้ำไป

ความริษยา กับความอิจฉาเป็นสิ่งเดียวกัน จึงมักเรียกให้คล้องจองกันว่า “อิจฉาริษยา” เมื่อไรที่เรารู้จักพอใจในตนเอง พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมี เคารพนับถือตนเอง เมื่อนั้นก็ไม่เกิดการเปรียบเทียบ อันนำไปสู่ความน้อยเนื้อต่ำใจเกิดอารมณ์หรืออาการแห่งความอิจฉาริษยาขึ้น ดูอย่างละครหลายๆเรื่องที่เขาต้องมี พระเอก นางเอก ผู้ร้ายและนางร้าย โดยเฉพาะนางร้ายก็จะได้อีกฉายาหนึ่งเป็นนางอิจฉาหรือนางริษยา (แต่ก็แปลกทำไมไม่เรียกตัวผู้ร้ายว่า นายอิจฉา หรือ นายริษยาบ้าง)

เหตุใดเราจึงมีความริษยาเคยลองคิดทบทวนบ้างหรือไม่ ส่วนมากมักลืมตัวกันทั้งนั้นปล่อยให้จิตใจเป็นไปตามอารมณ์ ความริษยาก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่เข้ามาครอบงำจิตใจของเรา จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากเราไม่สำรวมกายและไม่สำรวมใจ ขาดสติไม่รู้ตัว เพราะไม่กำหนดจิต ไม่กำหนดทวารทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ทำไมเราจึงต้องมีสติและต้องคอยกำหนดจิต เพราะเหตุว่าจิตของเราอยู่ใต้บังคับ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ารู้ไม่ทัน จิตก็หลง ดึงจิตไม่ทันจิตจะฟุ้ง คิดดูเผินๆเหมือนว่าจะทำได้ง่ายแต่แท้ทิ่จริงยาก เรื่องการกำหนดทวารทั้ง 5 นั้นต้องมีการฝึกฝนอบรมบ่มนิสัยอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย เป็นคนคิดก่อนทำไม่เผลอสติ ตรึกตรองยั้งคิดก่อนว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ไม่ขัดต่อศีลธรรมและกฏหมาย กำหนดจิตรู้ทันอารมณ์ ความจริงอยากจะเชิญชวนให้ผู้ที่เข้ามาอ่านบทความของเราได้ฝึกจิต ฝึกปฏิบัติ ฝึกรักษาศีล ฝึกการเป็นผู้ให้ และฝึกอะไรๆที่เป็นบุญ อย่างน้อยเย็นเป็นบุญเกิด เย็นไม่เป็นบาปเกิด และทำอย่างไรจึงเย็นเป็นบุญเกิด นั่นก็คือการละ ลด เลิกทิฐิ แล้วหันมาศึกษาวิถีแห่งพุทธศาสตร์ เดินตามเส้นทางแห่งการดับทุกข์ การพ้นทุกข์ เข้าสู่หนทางแห่งความดับเย็นคือ อริยมรรค มรรคมีองค์ 8 ประการ เหมือนยากแต่จริงๆแล้วถ้าเราพร้อมและมีอ่อนน้อมเริ่มให้ความสำคัญกับการก้าวเดินสู่จุดหมายคือ บรมสุข(ยังไม่ต้องพูดถึงนิพพานในเวลานี้นะเอาแค่สุขปัจจุบันให้สุขจริงทำได้ในชาตินี้ก่อน)
การกำหนดทวารทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
1. ตาเห็นรูป สักว่านั่นคือรูป เอาสติไว้ที่ตา ไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่เห็น ไม่หลงรูปมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
2. หูได้ยิน สักว่านั่นคือเสียง เอาสติไว้ที่หู ไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่ได้ยิน ไม่หลงในเสียงมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
3. จมูกได้กลิ่น สักว่านั่นคือกลิ่น เอาสติไว้ที่จมูกไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่ได้กลิ่น ไม่หลงในกลิ่นมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
4. ลิ้นได้รส สักว่านั่นคือรส เอาสติไว้ที่ลิ้น ไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่ได้ลิ้มรส ไม่หลงในรสมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
5. กายได้สัมผัส สักว่านั่นคือการสัมผัสถูกกาย ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นเรื่องของธรรมชาติ ตั้งสติไว้ที่กาย ไม่หลงในการสัมผัสมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์

ทำไมต้องกำหนดจิตดังนี้และต้องตั้งสติให้เท่าทันสิ่งที่สัมผัส เหตุเพราะเราและจิตของเราอยู่ภายใต้ อารมณ์แห่ง ความรัก โลภ โกรธ หลง ทั้งสิ้น ถ้าพิจารณาแล้วสิ่งต่างๆ เกิดจากการไม่รู้จริง นั่นคือโมหะ(ความไม่รู้ ความหลง)ต่อมาเป็นความถูกใจรักใคร่ยินดี คือ โลภะ(ความโลภ อยากได้ อยากมี อยากเป็น) และสุดท้ายปรุงแต่ง เป็นโทสะ(ความโกรธ ความพยาบาท ความมุ่งร้าย) เมื่อไม่ได้มาหรือได้มาแล้วต้องเสียไปให้ขัดเคืองในอารมณ์เกิดเป็นความร้อน ความร้ายตามมา

และนี่คือยาแก้ริษยาเลิกเปรียบเทียบ เลิกน้อยอกน้อยใจ เลิกทะเยอทะยานแบบผิดๆ และที่สุดให้มีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมมีวาสนา มีบุญกุศลติดตามมาตนมาแต่ชาติปางก่อนกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม แข่งเรือแข่งพายแข่งได้แต่แข่งบุญแข่งวาสนานั้นแข่งยาก ณ วันนี้ชาตินี้ต่างหากที่สำคัญว่าเราสร้างบุญบารมีวาสนาของตนหรือยัง บุญซื้อไม่ได้ขายไม่ได้ ใช่สักแต่ว่ามีเงินทองมีอำนาจลาภยศก้อจะสำเร็จ หรือทำบุญให้เหนือกว่าคนอื่นมากกว่าคนอื่นแล้วจะสำเร็จเป็นมรรคเป็นผล แต่จะทำอย่างไรให้บุญที่สร้างขาวสะอาดที่สุดบริสุทธิ์ปราศจากราคิน เป็นบุญใสดังแก้วกัลปพฤกษ์นั่นคือ บุญสำเร็จได้ด้วยปัญญา เจตตาอันศรัทธาในพระรัตนตรัยแท้ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ยิ่ง และการทำจิตใจให้ขาวรอบนั่นคือ หัวใจของบุญ

ความเมตตาต่อตนเองและเมตตาต่อผู้อื่นเสมอด้วยตนเอง คือ มหาบุญ มหากุศล ที่ไม่มีขายที่ไหนนอกจากจิตใจของตนเอง เมตตาธรรมค้ำจุนโลก คือ สัจจะวาจาที่ไม่เคยล้าสมัย


ขอบารมีธรรมจงรักษาคนรักษาธรรม
เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม

วันอังคารที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เมตตาธรรมจากพลโลก

เมตตาธรรมจากพลโลก

เพียงกล่าวคำว่า “เมตตา” ทุกคนส่วนมากก็รู้สึกได้ถึงความเย็นและความสุข คำว่า เมตตา ทำให้จิตใจคลายจากความเร่าร้อนได้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจน่าแปลกประหลาดสิ่งที่ควรสังเกตุน่าพิจารณาคำเดียวคำนี้ คือคำว่าเมตตาทำไมถึงมีอิทธิพลต่อจิตใจได้ของคนและสัตว์ทั้งหลายได้อย่างมากมายเพียงนี้ แน่นอนไม่มีใครชื่นชอบหรือยินดีกับความร้อนของความอาฆาตพยาบาทความริษยาต่างๆพอกล่าวคำว่า อาฆาตพยาบาทเหล่านี้ก็ร้อนอกร้อนใจได้ทันทีเช่นกันทั้งๆที่มีเหตุหรือไม่มีเหตุแค่ได้ยินก็ร้อนแล้ว

ความเมตตากรุณา เป็นความสุขอย่างยิ่ง มันเป็นสุขอย่างยิ่งได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราจะมาพูดกันในวันนี้ ใครบ้างไม่อยากให้คนอื่นมารักมาเมตตาตนเอง ทุกคนล้วนอยากได้รับความเมตตาจากผู้อื่น และจะมาสักกี่คนที่อยากจะมอบความเมตตาอย่างไม่มีสิ้นสุดให้กับคนอื่นๆเช่นกัน โดยมากแล้วปุถุชนนิยมการเป็นผู้รับมากกว่าการเป็นผู้ให้ แต่ถ้าหากต้องให้แล้วล่ะก้อมักจะมีเลศอยู่ภายในว่า จะได้รับอะไรเป็นสิ่งตอบแทน จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตนหยิบยื่นออกไป เมื่อไม่ได้สิ่งตอบแทนความเมตตานั้นก็ดูน่าเสียดาย น่าเสียหายไปเสียนั่น ช่างน่าขำเมื่อเมตตาแล้วทำไมต้องมีการหวังสิ่งตอบแทนด้วยเล่า ถ้าหวังผลก็ไม่เรียกว่า เมตตา กรุณาน่ะสิ

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ลองมาพินิจพิจารณาคำว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลก กันดูบ้าง ความเมตตาจะค้ำจุนโลกได้อย่างไร ลองนึกถึงภาพของคำว่าค้ำจุน ค้ำจุน คงเป็นภาพของคนยืนอยู่ แล้วยื่นแขนออกไปเหนือศรีษะเพื่อยกหรือแบกโลกไว้ แต่โลกมันใบใหญ่มากก็คงต้องใช้คนหลายๆคนหรือคนทั้งโลกให้มาช่วยกันยื่นแขนออกไปยกหรือแบกหรือค้ำโลกไว้ แต่ถ้าทำเช่นนั้นนานๆคงไม่ไหว เพราะอาการของทุกขเวทนาจะเกิดขึ้น เช่น ความปวดเมื่อย ความเบื่อหน่ายและอ่อนล้า เกิดการบ่ายเบี่ยง ที่สุดคือหมดแรง แล้วต่างคนคงเอามือลงปล่อยให้โลกเป็นไปตามยถากรรมต่อไป ก็ทำไมเป็นเช่นนั้น นั่นเพราะคนยังไม่เห็นประโยชน์ของการมีเมตตากรุณา และการช่วยเหลือกันในระหว่างพลโลก การเสียสละส่วนตัวเล็กๆน้อยๆเพื่อยังประโยชน์ให้กับผู้อื่น เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง เพราะยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำแล้วได้อะไร นี่คือสิ่งที่น่ากลัว มันน่ากลัวและน่ารังเกียจอีกด้วย เมื่อท่านกล่าวว่า ทำแล้วได้อะไร จะมีใครเห็นหรือไม่ นั่นหมายถึงถ้าไม่มีใครเห็นไม่ได้รับผลประโยชน์ก็ไม่ต้องเสียสละไม่ต้องเมตตาเช่นนั้นหรือ

เมตตาธรรมจากพลโลก พลโลกหมายถึงอะไร เกี่ยวข้องอะไรกับเราด้วย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า พลโลก ดังนั้นนั่นหมายถึง ทุกคน ทุกบ้าน ทุกตำบล-อำเภอ และทุกประเทศชาติ ทุกชนเผ่า ทุกสีผิว ทุกชั้นวรรณะ ไม่มีแบ่งแยกนั่นคือพลโลก เราทุกคนอยู่ในบ้านหลังเดียวกันนี่เป็นบ้านหลังใหญ่ มีฟ้าเป็นพ่อ มีแผ่นดินเป็นแม่ และมีทรัพย์พยากรณ์ธรรมชาติเป็นญาติพี่น้องของเรา แต่พวกเรากลับไม่รักพ่อไม่รักแม่ไม่รักพี่น้องของตัวเอง มีจิตคิดเข่นฆ่าญาติร่วมสายโลหิตกันเองตลอดเวลา ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น ลองมาพิจารณาดู เริ่มต้นจากการเกิดเมื่อเราจุติลงสู่ครรภ์มารดา ท่านก็เริ่มรับประทานอาหาร น้ำ หายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านจากร่างกายของมารดา ซึ่งมีบิดาเป็นผู้บำรุงเลี้ยงอีกทอดหนึ่ง สิ่งใดบ้างที่เรารับประทานลงไปหรือสูดอากาศหายใจเข้าไป เชื่อมโยงจากธรรมชาติและพลโลกทั้งสิ้น ท่านลองขึ้นไปบนเครื่องบินแล้วมองลงมาท่านจะเห็นเส้นใยแห่งชีวิตที่เชื่อมโยงอยู่บนพื้นผิวโลกเฉกเช่นกับใยแมงมุมสานต่อกันไปตลอดครอบคลุมทั่วโลกทั้งใบ ทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องและมีผลกระทบแก่กันและกันทั้งสิ้น เมื่อมีชีวิตอยู่จะนั่ง เดิน ยืน นอนล้วนต้องสัมผัสกับแผ่นดิน อากาศ และน้ำ เป็นกระแสคลื่นต่อเนื่องกันไปไม่หยุดและไม่มีที่สิ้นสุด ทุกอย่างสัมผัสกันอย่างไม่มีช่องว่างแม้เพียงปลายเข็มลอดได้ เมื่อตายก็สลายกลับกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ย่อยสลายกลายเป็นธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พืชพันธุ์ธัญญาหาร สรรพสัตว์ทั้งหลายและกระทั้งอากาศ ล้วนเป็นเลือดเนื้อและชีวิตของญาติพี่น้องและตัวเราเองทั้งสิ้นที่เวียนว่ายตายเกิดหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปมา ท่านรู้หรือไม่ว่าบางครั้งที่นั่งที่นอนที่ยืนที่เดินในขณะนี้อาจจะเป็นบริเวณที่เราเคยฝังศพตัวเองไว้แต่อดีตชาติ หรือหมู หมา กาไก่ที่เรากินหรือเลี้ยงดูอยู่นั้นอาจจะเป็นพ่อ แม่ พี่น้องของเราก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ชวนคิด ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามทุกอนูธาตุ ทั้งของเราเองและของผู้อื่นล้วนหมุนเวียนมาสู่ตัวเราเองทั้งสิ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นร่างกาย ทรัพย์สิน กระทั่งมูตรคูต(ของเสียในกาย) ต่างๆเหล่านี้ ก็จะถูกจัดสรรวนเวียนมาสู่ตัวเราอีกทุกครั้งที่เราเกิดอยูนั่นเอง ไม่มีอะไรหายไปอย่างไร้ร่องรอย ทุกอย่างเวียนว่ายตายเกิดวนเวียนไปมาเป็นของส่วนกลางของโลก นั้นก็แสดงว่า การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง กฏแห่งกรรมมีจริง ทำไมจึงต้องกลับมากล่าวถึงเรื่องของกฏแห่งกรรมด้วย ก็เจ้ากฎแห่งกรรมนี่แหละคือใจกลาง ศูนย์กลางและเป็นตัวบงการอีกด้วย กฎแห่งกรรมคือต้นเหตุของสรรพสิ่งทั้งปวง ที่ทำให้เกิดอะไรๆต่างๆมากมาย ถ้ากรรมหมดทุกอย่างก็หมด หมดภพ หมดชาติไปด้วย เรื่องกรรมเมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่มีกรรม(เป็นสุญญตา)ทุกอย่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างไม่มีข้อหลีกเลี่ยง ดังนั้นไม่ว่าพลโลกจะทำอะไรลงไปทั้งดีทั้งชั่วย่อมได้รับผลของกรรมนั้นร่วมกันทั้งหมด ทั้งเปิดเผยและแอบแผงในเชิงบวกและลบเสมอ แต่วันนี้เราพูดกันในเรื่องของพลโลก ดังนั้นจึงเป็นกรรมร่วมกันทั้งคณะทั้งโลก นอกเสียจากเราออกไปนอกโลก แต่เดี๋ยวนี้ถึงออกไปล่องลอยอยู่นอกโลกในชั้นบรรยากาศก็ยังไม่พ้นเรื่องของกฎแห่งกรรมที่พลโลกสร้างไว้ เพราะในชั้นบรรยาการก็แปรปรวนเหมือนกันเพราะฝีมือของพลโลกทั้งสิ้น ถ้ามองลงไปใต้ดิน ใต้น้ำ ก็ได้รับผลกรรมกันทั่วถึงไปหมด หวั่นไหว น่าหวาดเสียวและน่าหวาดกลัว ผลกรรมของพลโลกที่สร้างไว้อย่างขาดความยั้งคิด ที่พูดทั้งหมดนี้เหมือนกับว่าจะมารณรงค์ให้รักธรรมชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติ รักโลก ใบน้อยที่อาภัพเพราะมีคนไม่เห็นคุณค่าไม่เห็นคุณประโยชน์และบุญคุณของโลก นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่ตั้งใจจริงมันมากกว่านั้น คือ ต้องการรณรงค์ให้ทุกคนเจริญเมตตา เจริญกรุณาต่างหาก

ความเมตตากรุณา คือความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ และปราถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข ผู้อื่นคือคนอื่นและกระทั่งตนเองก็อยากพ้นทุกข์และมีความสุขเฉกเช่นกันมิใช่หรือ ถ้าทุกคนมีใจเมตตากรุณาโดยทั่วกันที่สุดก็เป็นวงกลมวนมาบรรจบที่ตัวเราประโยชน์ต่างๆย่อมไม่ไปไหนเสีย พลโลกและทรัพย์พยากรณ์ของโลก ก็มีความสุข มีความสมัคคี มีความสงบเย็นสบายโดยทั่วทุกชาติ ทุกบ้านเรือนที่สุดทุกชีวิตล้วนปลอดภัยมีความสุข แต่ถ้าไม่เช่นนั้นมัวแต่กอบโกยเพราะเอาประโยชน์ใส่ตัวโยนโทษให้ผู้อื่นซึ่งจริงๆแล้วจะโยนไปไหนก็วนเวียนกลับมายังตัวเราเองเสมอเพราะทุกอย่างล้วนร่วมกันดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น โลกก็เดือดดาลเกิดความเดือดร้อนเกิดเป็นเพทภัยต่างๆ อย่างที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับกรรมอย่างน่าเศร้าสลดใจดังที่ผ่านๆมา เพียงพวกเราเมตตากรุณากันและกัน เผื่อแผ่ เผยแผ่ความเมตตาไปยังธรรมชาติรอบตัว ระวังทั้งการสร้าง(วัตถุ) และการทำลาย(ธรรมชาติ)เท่านี้ความเมตตาก็จะค้ำจุนโลก เมื่อโลกได้รับความเมตตาพวกเราก็จะ สงบ สุข สบาย และพ้นจากภัยมืดที่น่ากลัวทุกประการ ช่วยกันหยิบยื่นความเมตตาขึ้นไว้เหนือศรีษะให้เกิดเป็นเครื่องค้ำยัน ค้ำจุนโลกกันเถอะ วันนี้เรามีเมตตาแล้วหรือยัง

ขอให้ทุกท่านที่เจริญเมตตากรุณา จงได้รับความรักและความเมตตากรุณาเป็นสิ่งตอบแทนทุกท่านทุกคนเทอญ.

เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม