วันพุธที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ความริษยา

วันนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องของอารมณ์ริษยา ซึ่งเป็นอารมณ์ในเชิงอกุศลอีกประเภทหนึ่งที่ไม่แพ้อารมณ์ร้อนร้ายแรงอย่างอื่นๆเช่น อารมณ์อาฆาต อารมณ์พยาบาท อารมณ์โกรธ อารมณ์คับแค้นขุ่นเคืองต่างๆรวมทั้งอารมณ์น้อยอกน้อยใจทั้งหลาย อารมณ์เช่นนี้เกิดที่ใดเดือดร้อนที่นั่น อาการทางกายก็หาความสงบไม่ได้ จะนั่ง ยืน เดิน นอนก้อหาความสุขสบายใจไม่ได้เลย เพราะความร้อนที่เข้ามาเผาผลาญจิตใจผู้ที่เป็นเจ้าของอารมณ์นั้น ไฟแห่งความริษยาจะเผาไหม้ใจตนเองแต่ผู้เดียว คนอื่นเขาสบายดีไม่เดือดร้อน ถ้าเป็นเช่นนั้น ถือว่า ท่านล้มละลายในชีวิตทีเดียวล่ะ

เมื่อเรากล่าวถึงคำว่า “อารมณ์” มันก็หมายถึงอารมณ์ดี(สุข) อารมณ์ร้าย(ทุกข์) และทั้งไม่ดีไม่ร้าย(เฉยๆ) ถ้าเป็นอารมณ์ดีทุกอย่างก็ดูชื่นบานสดใส ร่มเย็น แต่เมื่อไรที่เป็นอารมณ์ร้าย ดูเหมือนทุกอย่างจะพังพินาจไปหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดีหรืออารมณ์ร้ายก็ตามทุกอย่างถูกปรุงแต่งขึ้นจากจิต ปรุงแต่งขึ้นจนเป็นสังขารเกิดมีตัวตน มีตัวกูขึ้นมาทันที ผูกแน่นยึดมั่นอยู่กับตัวกูอย่างมั่นคงแน่นหนาจนที่สุดปัญญาค่อยๆมืดบอด ถึงที่สุดไม่มีปัญญา หมดปัญญา ไม่เอาแล้วแสงธรรม คุณธรรม จริยธรรม ธรรมะใดๆก็ไม่เอาจะเอาแต่ตัวกูเท่านั้น หันมาพูดกันต่อเรื่องของ อารมณ์ริษยา หรือ ความริษยา อะไรคือริษยา เชื่อว่าทุกคนเคยมีอารมณ์นี้ อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต อารมณ์ริษยามักเกิดขึ้นในขณะที่ตนเองเผลอใจ เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ วัตถุปัจจัยสิ่งของ รูปร่างหน้าตา ความสุขความสบาย ยศฐาบรรดาศักดิ์ ความร่ำรวยเงินทองและต่างๆอีกมากมาย ไม่ยินดีในสิ่งที่ตนมี ไม่มั่นคงในตนเอง ไม่นับถือตนเอง ไม่รู้จักพอ อยากได้ อยากมี อยากเป็น นี่แหละคือเหตุของการเกิดอารมณ์ริษยา ความริษยาเป็นของร้อน เป็นยาพิษ เป็นความฉิบหาย บางครั้งอยากเติมคำว่า ฉิบหายขายตัวไปเลยด้วยซ้ำไป

ความริษยา กับความอิจฉาเป็นสิ่งเดียวกัน จึงมักเรียกให้คล้องจองกันว่า “อิจฉาริษยา” เมื่อไรที่เรารู้จักพอใจในตนเอง พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมี เคารพนับถือตนเอง เมื่อนั้นก็ไม่เกิดการเปรียบเทียบ อันนำไปสู่ความน้อยเนื้อต่ำใจเกิดอารมณ์หรืออาการแห่งความอิจฉาริษยาขึ้น ดูอย่างละครหลายๆเรื่องที่เขาต้องมี พระเอก นางเอก ผู้ร้ายและนางร้าย โดยเฉพาะนางร้ายก็จะได้อีกฉายาหนึ่งเป็นนางอิจฉาหรือนางริษยา (แต่ก็แปลกทำไมไม่เรียกตัวผู้ร้ายว่า นายอิจฉา หรือ นายริษยาบ้าง)

เหตุใดเราจึงมีความริษยาเคยลองคิดทบทวนบ้างหรือไม่ ส่วนมากมักลืมตัวกันทั้งนั้นปล่อยให้จิตใจเป็นไปตามอารมณ์ ความริษยาก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่เข้ามาครอบงำจิตใจของเรา จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากเราไม่สำรวมกายและไม่สำรวมใจ ขาดสติไม่รู้ตัว เพราะไม่กำหนดจิต ไม่กำหนดทวารทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ทำไมเราจึงต้องมีสติและต้องคอยกำหนดจิต เพราะเหตุว่าจิตของเราอยู่ใต้บังคับ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ารู้ไม่ทัน จิตก็หลง ดึงจิตไม่ทันจิตจะฟุ้ง คิดดูเผินๆเหมือนว่าจะทำได้ง่ายแต่แท้ทิ่จริงยาก เรื่องการกำหนดทวารทั้ง 5 นั้นต้องมีการฝึกฝนอบรมบ่มนิสัยอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย เป็นคนคิดก่อนทำไม่เผลอสติ ตรึกตรองยั้งคิดก่อนว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ไม่ขัดต่อศีลธรรมและกฏหมาย กำหนดจิตรู้ทันอารมณ์ ความจริงอยากจะเชิญชวนให้ผู้ที่เข้ามาอ่านบทความของเราได้ฝึกจิต ฝึกปฏิบัติ ฝึกรักษาศีล ฝึกการเป็นผู้ให้ และฝึกอะไรๆที่เป็นบุญ อย่างน้อยเย็นเป็นบุญเกิด เย็นไม่เป็นบาปเกิด และทำอย่างไรจึงเย็นเป็นบุญเกิด นั่นก็คือการละ ลด เลิกทิฐิ แล้วหันมาศึกษาวิถีแห่งพุทธศาสตร์ เดินตามเส้นทางแห่งการดับทุกข์ การพ้นทุกข์ เข้าสู่หนทางแห่งความดับเย็นคือ อริยมรรค มรรคมีองค์ 8 ประการ เหมือนยากแต่จริงๆแล้วถ้าเราพร้อมและมีอ่อนน้อมเริ่มให้ความสำคัญกับการก้าวเดินสู่จุดหมายคือ บรมสุข(ยังไม่ต้องพูดถึงนิพพานในเวลานี้นะเอาแค่สุขปัจจุบันให้สุขจริงทำได้ในชาตินี้ก่อน)
การกำหนดทวารทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
1. ตาเห็นรูป สักว่านั่นคือรูป เอาสติไว้ที่ตา ไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่เห็น ไม่หลงรูปมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
2. หูได้ยิน สักว่านั่นคือเสียง เอาสติไว้ที่หู ไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่ได้ยิน ไม่หลงในเสียงมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
3. จมูกได้กลิ่น สักว่านั่นคือกลิ่น เอาสติไว้ที่จมูกไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่ได้กลิ่น ไม่หลงในกลิ่นมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
4. ลิ้นได้รส สักว่านั่นคือรส เอาสติไว้ที่ลิ้น ไม่ผูกจิตมากไปกว่าที่ได้ลิ้มรส ไม่หลงในรสมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์
5. กายได้สัมผัส สักว่านั่นคือการสัมผัสถูกกาย ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นเรื่องของธรรมชาติ ตั้งสติไว้ที่กาย ไม่หลงในการสัมผัสมาเป็นการปรุงแต่งอารมณ์

ทำไมต้องกำหนดจิตดังนี้และต้องตั้งสติให้เท่าทันสิ่งที่สัมผัส เหตุเพราะเราและจิตของเราอยู่ภายใต้ อารมณ์แห่ง ความรัก โลภ โกรธ หลง ทั้งสิ้น ถ้าพิจารณาแล้วสิ่งต่างๆ เกิดจากการไม่รู้จริง นั่นคือโมหะ(ความไม่รู้ ความหลง)ต่อมาเป็นความถูกใจรักใคร่ยินดี คือ โลภะ(ความโลภ อยากได้ อยากมี อยากเป็น) และสุดท้ายปรุงแต่ง เป็นโทสะ(ความโกรธ ความพยาบาท ความมุ่งร้าย) เมื่อไม่ได้มาหรือได้มาแล้วต้องเสียไปให้ขัดเคืองในอารมณ์เกิดเป็นความร้อน ความร้ายตามมา

และนี่คือยาแก้ริษยาเลิกเปรียบเทียบ เลิกน้อยอกน้อยใจ เลิกทะเยอทะยานแบบผิดๆ และที่สุดให้มีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมมีวาสนา มีบุญกุศลติดตามมาตนมาแต่ชาติปางก่อนกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม แข่งเรือแข่งพายแข่งได้แต่แข่งบุญแข่งวาสนานั้นแข่งยาก ณ วันนี้ชาตินี้ต่างหากที่สำคัญว่าเราสร้างบุญบารมีวาสนาของตนหรือยัง บุญซื้อไม่ได้ขายไม่ได้ ใช่สักแต่ว่ามีเงินทองมีอำนาจลาภยศก้อจะสำเร็จ หรือทำบุญให้เหนือกว่าคนอื่นมากกว่าคนอื่นแล้วจะสำเร็จเป็นมรรคเป็นผล แต่จะทำอย่างไรให้บุญที่สร้างขาวสะอาดที่สุดบริสุทธิ์ปราศจากราคิน เป็นบุญใสดังแก้วกัลปพฤกษ์นั่นคือ บุญสำเร็จได้ด้วยปัญญา เจตตาอันศรัทธาในพระรัตนตรัยแท้ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ยิ่ง และการทำจิตใจให้ขาวรอบนั่นคือ หัวใจของบุญ

ความเมตตาต่อตนเองและเมตตาต่อผู้อื่นเสมอด้วยตนเอง คือ มหาบุญ มหากุศล ที่ไม่มีขายที่ไหนนอกจากจิตใจของตนเอง เมตตาธรรมค้ำจุนโลก คือ สัจจะวาจาที่ไม่เคยล้าสมัย


ขอบารมีธรรมจงรักษาคนรักษาธรรม
เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม

ไม่มีความคิดเห็น: