การมองเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต เหมือนที่เปรียบไว้ว่า ดวงตาเป็นดังแสงสว่างแห่งดวงประทีป ถ้าดวงตาดับมืดบอดลงนั่นหมายถึงโลกนี้ดับมืดลงด้วย ดังนั้นดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างยิ่ง ต้องระมัดระวังรักษาถนุถนอมอย่าให้เขาเจ็บป่วยหรือเกิดเสื่อมสภาพน้อยที่สุด การมองเห็นภาพต่างๆเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา เมื่อมีภาพเข้ามากระทบกับตาของเราภาพนั้นย่อมส่งผลทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นที่กายและใจของเราเสมอ การมองเห็นของตาเราทำให้เราเกิดมีความรู้สึกต่างๆ ทั้งที่สร้างความสุขและก่อให้เกิดความทุกข์กับจิตใจบางครั้งก็รู้สึกเฉยๆไปก็มี
ดังนั้น เราต้องฉลาดแยกแยะภาพต่างๆที่จะไปสะสมให้เกิดอารมณ์ที่ส่งไปสู่จิตนี่เป็นเรื่องสำคัญ การเลือกดูภาพที่ให้ความรู้สึกดีๆ กับกายและใจของเรา เป็นการอบรมชีวิตและวิญญาณให้อ่อนละมุน สุนทรี และเกิดความเมตตา การรู้จักคัดกรองในสิ่งที่ต้องพบเจอต้องมองเห็นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง จงมองสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มองสิ่งที่ให้โทษนี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ท่านคงคิดว่าถ้าพูดอย่างนี้ทำได้ยาก เพราะการมองเห็นเป็นเรื่องที่ต้องพบต้องเจอกับสิ่งทั้งหลายมากมาย ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเห็นอะไรพบอะไรไว้ล่วงหน้าได้ แต่ถ้าเราพิจารณาให้ลึกลงไปเรามีสิทธิที่จะเลือกสิ่งต่างๆที่ดีๆให้กับตัวเองได้ ไม่ใช่ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามเวรตามกรรมอย่างไร้จุดหมาย เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ถ้าเราไม่ปล่อยให้อารมณ์เป็นผู้นำ แต่เราควรอย่างยิ่งที่ต้องใช้สติ-สัมปชัญญะในการจัดสรรสิ่งต่างๆเพื่อตัวเราได้ และตัวสตินี้แหละที่ต้องฝึกฝนให้มาก ให้ชำนาญคือ ฝึกให้ตนมีสติเสมอ ตลอดเวลารู้ว่าตนทำอะไรอยู่ เช่น ขณะนี้เรายืนอยู่หน้าร้านหนังสือ มีหนังสือ นิตยสารมากมายวางเรียงรายอยู่เบื้องหน้า ทั้งชนิดที่เป็นวิชาการ บัญเทิง ข่าวสาร ขบขัน และหนังสือยั่วยุให้เกิดกิเลสตัณหาราคะที่วางจำหน่ายอยู่ดาษดื่นหรือแม้กระทั้งหนังสือธรรมะฯลฯ แต่ละชนิดยังแยกย่อยออกไปอีก ทั้งที่มีประโยชน์จริงและไม่ค่อยจะมีประโยชน์ เนื้อหาสาระแก่นสารไม่ค่อยมีแต่เอื้อประโยชน์ทางการค้าและยั่วยุให้หลงผิดนั้นมีมาก นี่ก้อต้องใช้วิจารณะญานให้มากๆในการเลือกซื้อ ทำไมจึงยกตัวอย่างเป็นเรื่องหนังสือ เพราะเหตุว่า หนังสือเป็นสื่อที่อยู่คงทนถาวรสามารถตกไปสู่มือหนึ่งๆได้จนชั่วลูกหลาน พกพาสะดวก จึงต้องยิ่งระวังให้มากเพราะถ้าเผยแพร่สิ่งไม่ดีโดยขาดสามัญสำนึก ขาดคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว นั่นก็หมายถึงมรดกที่เรามอบให้ไว้กับเยาวชนและสังคมทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจจากเงื้อมมือของเราเอง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นผู้มีพระปัญญาอันยิ่ง ท่านตั้งคำถามขึ้นว่า ความทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่นี้ อันมี ความเกิด แก่ เจ็บ และตายในที่สุดนั้น เป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ทุกข์กว่านั้นคือ ความซ้ำซากที่ต้องเกิด-ตาย วนเวียน วกวนซ้ำซากกับการเกิด-ตาย หลายพบชาติ แล้วทำไมคนเราและสรรพสัตว์ทั้งหลายจึงไม่หลุดพ้นจากทุกข์ที่เวียนว่ายตายเกิดนี้เสียที สิ่งนี้ตอนที่ท่านเสวยพระชาติเป็นพระสิทธัตถะกุมารในเบี้องต้นท่านก็ยังไม่แจ้ง ไม่รู้จักเลย มารู้สึกก็เมื่อครั้งที่ท่านเสด็จออกนอกพระราชวัง ได้พบความจริงของสิ่งทั้งหลายว่า ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง ล้วนเป็นทุกข์น่าสังเวทจริงๆ คิดได้ดังนั้นท่านจึงสละทุกสิ่งในชีวิตเพื่อการนี้ เพื่อค้นหาวิถีทางแห่งการระงับทุกข์ การออกจากทุกข์ อย่างไม่ต้องกลับมาทุกข์อีก ท่านทำเพื่อใคร? พวกเราเคยลองย้อนกลับไปคิดกันหรือไม่ โดยมากคิดแต่ว่าเราจะทำอะไรอย่างไรจึงได้บุญมากๆ จะได้พ้นทุกข์เร็วๆ มิหนำซ้ำยังคิดแบบเปิดปุ๊ปกินได้ปั๊ปซะด้วย ทำบุญปุ๊ปต้องได้รับการตอบรับแห่งบุญทันทีคือ...........(เติมความต้องการเอาเองแล้วแต่กิเลสของคนนั้น) คงคิดว่าการทำบุญเหมือนกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมั๊ง หรือประเภทกินด่วนตามห้างดังๆทั้งหลาย บ้างก้อคิดว่าจะทำบุญอะไรหนอจึงรวยได้ดังใจหวังชนิดทันตาเห็นด้วยนะประเภทบุญหล่นจากฟ้า น่าหัวร่อและน่าอายเป็นที่สุด เคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า กว่าที่พระเจ้าสิทธัตถะจะบรรลุธรรม รู้แจ้งในพระธรรม และได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านต้องแลกด้วยทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดในชีวิตที่มี แม้กระทั่งเลือดเนื้อในกายทั้งหมดที่มีทีเดียว เคยมีคนคิดถึงความทุกข์ยากลำบากของพระองค์ท่านบ้างไหม? ฝากให้ชาวพุทธช่วยกันคิดสักนิดค่ะ
สรุป เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราปราถนาว่า ต้องพ้นทุกข์เป็นความจริง ถ้าไม่พ้นทุกข์ก็ขอให้ความทุกข์ทุเลาเบาบางลงบ้างนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด ให้สมกับที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงฝากเรื่องนี้ไว้ให้กับลูกหลานเช่นเราได้ศึกษาและปฏิบัติไว้เป็นตัวอย่างมาสองพันกว่าปี มีคุณค่า มีคุณประโยชน์จริง เราทั้งหลายที่เรียกตนว่า พุทธศาสนิกชนคนชาวพุทธควรสำเนียกไว้คือ เลิกมอมเมาชาวพุทธแบบมีมายากันได้แล้ว หันมาปฏิบัติธรรมบริสุทธิ์กันเถอะ ปาฏิหารย์จะมีจริงก็ต่อเมื่อท่านมี ความมีศรัทธาแท้แน่วแน่ต่อพระรัตนะตรัย มีการรักษาศีล มีการเสียสละ ที่สำคัญดำเนินชีวิตด้วยปัญญา นั้นแหละท่านจึงพบหนทางแห่งความก้าวล่วงทุกข์และเป็นหนทางแห่งอริยะชน สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.
แก้วเกษม ศรัทธาโพธิธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น