วันพุธที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

อาจารย์ใหญ่สอนธรรมะอยู่ที่ไหน ขั้นที่ ๓

อาจารย์ใหญ่สอนธรรมะอยู่ที่ไหน ขั้นที่ ๓
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกไม่มีคำว่า “โดยบังเอิญ”
ธรรมะจัดสรร กรรมะบันดาล นั่นคือ ความหมายเดียวกับคำว่า กฎแห่งกรรม ลองหันมาพิจารณากันอีกสักครั้ง
หนึ่งชีวิต ตั้งแต่ลืมตาดูโลกล้วนดำเนินไปด้วยอำนาจแห่งกรรมทั้งสิ้น อดีตชาติของคนและสัตว์นั้นมีมากมายนัก จึงได้ทำกรรมกันไว้มากมาย กุศลกรรมบ้างอกุศลกรรมบ้าง ชีวิตในปัจจุบันมีดีบ้างไม่ดีบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้าง คนมั่งมีเป็นมหาเศรษฐีพรั่งพร้อมด้วยอำนาจวาสนา ก็ด้วยอำนาจของ กุศลกรรม คือ การบริจาคทานช่วยเหลือเจือจุนผู้อื่น ทำแต่กรรมขาว และมีจิตใจที่งดงาม ได้กระทำสั่งสมมานับชาติไม่ถ้วนไว้ในอดีต นั่นก็เป็นกฎแห่งกรรมว่าด้วย ทำดีได้ดี แต่ เมื่ออกุศลกรรม คือ การคดโกง เบียดเบียนทรัพย์สินให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่มีศีลธรรม สร้างแต่กรรมดำไว้ในอดีต ส่งผลและเป็นผลที่แรงกว่ามีกำลังกว่ากุศลกรรมที่กำลังเสวยผลอยู่ อกุศลกรรมก็จะตัดรอนกุศลกรรม การส่งผลไม่ดีของอกุศลกรรมให้เกิดแทน ความมั่งคั่งมั่งมีก็จะกลับเป็นความอัตคัดขัดสน หรือมีโรคภัยร้ายแรงตัดและบั่นทอนนานา ถึงที่สุดเป็นบุคคลทุพลภาพหรืออายุสั้น สิ้นเนื้อประดาตัวก็มี ผู้ที่มีปัญญาจึงกลัวกรรมเป็นอย่างยิ่งมากกว่าอะไรอื่น กลัวเพราะรู้ว่า เมื่อทำกรรมไม่ดีไว้แล้วต้องได้รับผลไม่ดี และเมื่อถึงเวลาที่กรรมส่งผลไม่ดีมาถึงตัวแล้วหากยังไม่รู้ตัวย่อมจะรอดพ้นผลแห่งกรรมนั้นได้ยาก สิ่งนี้ก็คือ ทำชั่วได้ชั่ว บางคนตั้งแต่เกิดมาในชาตินี้ไม่เคยทำกรรมไม่ดีเช่นนั้น แต่ก็ต้องได้รับผลไม่ดี ที่อาจจะทำให้เกิดความพิศวงสงสัย จนทำให้เกิดเป็นมิจฉาทิฐิความเห็นผิด คือเห็นไปว่าทำดีไม่ได้ดี ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ทำดีต้องได้รับผลดีเสมอ ทำไม่ดีจึงจะได้รับผลไม่ดีความเที่ยงตรงนี้ไม่มีวันผันแปร
วิธีแก้หรือทอนกำลังการส่งผลของอกุศลกรรมในเบื้องต้นท่านต้องเชื่อเรื่องผลของกรรมว่ามีจริงเสียก่อนเมื่อเชื่อเช่นนั้นแล้วก็ไม่เป็นการยากที่เราจะแก้ไขให้ชีวิตดีขึ้นได้ เริ่มต้นด้วยการให้สัญญาว่าจะไม่ทำกรรมไม่ดีอีกทั้ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เชื่อและศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพรผู้มีพระภาคเจ้า และเริ่มค้นคว้าหาวิธีปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ลองเข้ามาศึกษาว่าเหตุของการเกิด ภพชาติ เกิดขึ้นได้อย่างไร คงเคยได้ยินคำว่า ปฏิจสมุปบาท เหตุให้เกิดภพชาติ (การเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น) แต่ก่อนที่จะเข้าไปถึงสิ่งนี้เราลองหาวิธีวางรากฐานของชีวิตให้พ้นจากความชั่วทั้งปวงเพื่อชีวิตที่บริสุทธิ์ คนเราควรมีสามัญสำนึกที่จะต้องดำเนินชีวิตที่ดีงามให้จงได้ และต้องร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ให้เจริญมั่นคง ตามหลักวินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) ดังนี้
กฎ ๑ เว้นชั่ว ๑๔ ประการ
ก. เว้นกรรมกิเลส ๔ การไม่กระทำบาปทางกายอันจะทำให้ชีวิตมัวหมอง คือ ๑. เว้นปาณาติบาตการฆ่าสัตว์ ๒.เว้นอทินนาทานเว้นการลักทรัพย์ ๓.เว้นกาเมสุมิจฉาจารเว้นการประพฤติผิดในกาม ๔. เว้นมุสาวาทเว้นการพูดเท็จโกหกหลอกลวง
ข. เว้นอคติ ๔ การไม่กระทำผิดทางใจความลำเอียง/ประพฤติคลาดธรรม คือ ๑. เว้นฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะชอบ ๒. เว้นโทสาคติ คือไม่ลำเอียงเพราะชัง ๓. เว้นภยาคติ คือ ไม่ลำเอียงเพราะขลาด ๔. เว้นโมหาคติไม่ลำเอียงเพราะเขลา
ค. เว้นอบายมุข ๖ การไม่หลงมัวเมาอยู่ในหนทางแห่งความโง่ที่ชั่วช้าน่าอับอาย ช่องทางเสื่อมทรัพย์อับชีวิต คือ ๑.ไม่เสพติดสุรายาเมา ๒.ไม่เอาแต่เที่ยวไม่รู้เวลา ๓. ไม่จ้องหาแต่รายการบันเทิง ๔. ไม่เหลิงไปหาการพนัน ๕. ไม่พัวพันมั่วสุมมิตรชั่ว ๖.ไม่มัวจมอยู่ในความเกียจคร้าน
กฎ ๒ เตรียมทุนชีวิต ๒ ด้าน
ก. เลือกสรรคนที่จะเสวนา คบมิตรที่นำไปในทางแห่งความเจริญและสร้างสรรค์ โดยหลีกเว้นมิตรเทียมมิตรพาให้ฉิบหาย คบหาแต่มิตรแท้ คือ ๑. รู้ทันมิตรเทียม หรือ ศัตรูผู้มาในร่างมิตร แบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ คนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ คนชวนฉิบหาย ๒. รู้ถึงมิตรแท้ หรือ มิตรด้วยใจจริง (สุหทมิตร) ๔ ประเภท มิตรอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะนำประโยชน์ มิตรมีใจรักเมตตาต่อกัน
ข. จัดสรรทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยสัมมาชีพ ดังนี้ ขยันหมั่นเพียรในการทำงานดังผึ้งน้อยสร้างรวงรังและ เก็บออมทรัพย์ที่หามาได้ดังผึ้งเก็บรวมน้ำหวานและเกสร เมื่อก่อร่างสร้างทรัพย์ได้ พึงวางแผนการใช้จ่ายอย่างรอบคอบใช้จ่ายในสิ่งอันเป็นประโยชน์ โดยจัดส่วนดังนี้ ๑ ส่วนใช้เลี้ยงตัว ๑ ส่วนใช้ทำหน้าที่การงานประกอบกิจการอาชีพ ๑ ส่วน เก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตในคราวจำเป็นและเมื่อยามเข้าสู่วัยอาทิตย์อัสดง
กฎ ๓ รักษาความสัมพันธ์ ๖ ทิศ
ก. การทำทุกทิศให้สุขเกษมอย่างถูกฐานะ ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามฐานะและหน้าที่แห่งตนต่อบุคคลที่สัมพันธ์ด้วย
ทิศที่ ๑ ในฐานะที่ตนเป็นบุตร ธิดา พึงเคารพบิดามารดาซึ่งเปรียบเหมือนทิศเบื้องหน้า ทิศที่ ๒ ในฐานะที่เป็นศิษย์ พึงให้ความเคารพนพนอบต่อครูบาอาจารย์ซึ่งเปรียบเหมือนเบื้องขวา ทิศที่ ๓ ในฐานะที่เป็นสามี พึงให้เกียรติบำรุงเลี้ยงภรรยาและครอบครัวซึ่งเปรียบเหมือนทิศเบื้องหลัง ทิศที่ ๔ ในฐานะที่เป็นมิตรสหาย พึงปฏิบัติต่อมิตรสหายอันเป็นเพื่อนแท้ซึ่งเปรียบเหมือนทิศซ้าย ทิศที่ ๕ ในฐานะที่เป็นนายจ้าง พึงบำรุงคนรับใช้และคนงานในเรือนชานที่ตนปกครองซึ่งเปรียบเหมือนทิศเบื้องล่าง ทิศที่ ๖ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน พึงแสดงความเคารพนับถือต่อ พระสงฆ์ผู้ทรงศีล ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องบน
ข. เกื้อกูลประสานสังคม ทำตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมยังประโยชน์อันจะนำมาซึ่งดความสงบสุข เพื่อความเจริญรุ่งเรือง มั่นคงสมานสามัคคี เอกภาพด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ ๑. ทาน คือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ด้วยเงินทองหรือข้าวของต่างๆ ตามฐานะแบ่งปันความสุขให้ผู้ร่วมสังคมนั้น ๒. ปิยะวาจา พูดจาอย่างรักกัน มีความไพเราะอ่อนหวานและจริงใจ ไม่กล่าวคำที่จะก่อให้เกิดความแตกแยก คำพูดควรยังประโยชน์แก่เขาและเราอย่างบริสุทธิ์ ๔. สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมานช่วยสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาโดยธรรม ร่วมทุกข์ร่วมสุขเมื่อมีภัยมา ร่วมยินดีเมื่อมีความสำเร็จและความสุข

การนำชีวิตให้ถึงจุดหมาย
ก. จุดหมาย ๓ ขั้น ดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมาย (อัตถะ) ๓ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๑ ทิฎฐธัมมิกัตถะ ขั้นตาเห็นเกิดประโยชน์ปัจจุบันได้รับผลทันที เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่มั่วอบาย มีจิตใจใฝ่ในธรรม ผลที่ได้รับ คือ การมีสุขภาพกายดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ อายุยืน, มีเงินมีงานทำมีอาชีพสุจริต พึ่งตนเองได้ไม่เป็นภาระของสังคม, มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม, มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ, ทั้ง ๔ นี้พึงให้เกิดมีโดยธรรม และใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
ขั้นที่ ๒ สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็น เกิดประโยชน์เบื้องหน้าหรือภพหน้า คือ มีความอบอุ่นมั่นใจในกุศลที่ตนสร้างสม ซาบซึ้งสุขใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอยไม่หวาดหวั่นเมื่อทุกข์ภัยหรือความตายมาเยือน มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข้มแข็งด้วยศรัทธา, มีความภูมิใจในชีวิตที่สะอาดเปี่ยมความดีมากด้วยบุญกุศล ที่ได้ประพฤติแต่สิ่งอันดีงามด้วยความสุจริต, มีความเต็มบริบูรณ์แห่งกุศลจิต ปิติมั่นคงในชีวิตที่ขาวสะอาด ในชีวิตมีคุณค่าที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมาด้วยน้ำใจ เสียสละ, มีความแกล้วกล้าอาจหาญมั่นใจ ที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสติ นำชีวิตและภารกิจไปได้ ด้วยดวงแก้วแห่งปัญญา, มีความปลอดโปร่งใจ จิตมั่นคง จิตใจไม่หวั่นเกรงต่ออกุศลเรียกว่า มีทุนประกันภพใหม่ ได้ด้วยกุศลที่ได้ทำไว้แต่กรรมที่ดี
ขั้นที่ ๓ ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือประโยชน์อย่างยิ่งอย่างสูงสุด ไม่มีอะไรจะดียิ่งกว่า สูงยิ่งกว่า คือ แม้ว่าจะต้องได้รับการกระทบแห่งโลกธรรม ด้วยเหตุใดก็ตาม พบความผันแปรที่แสบร้อน เจ็บปวดก็ไม่หวั่นไหว เพราะเราได้เตรียมการ ทั้งทางกาย ใจ และเตรียมจิตไว้มั่นคงมุ่งตรงศรัทธาในพระรัตนตรัย เป็นผู้ไม่ประมาท ก้าวเดินตามรอยพระบาทขององค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาทอย่าง ไม่ออกนอกลู่ทาง ดังนั้นก็ไม่หวั่นไหวมีใจเกษมศานต์ที่มั่นคง, ไม่ถูกความยึดมั่นถือมั่น เห็นแต่ตัวกูมาหรอกหลอน ยึดติดบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า หรือระเริงใจริงโลดจนเหมือนผู้ขาดสติ คล้ายเป็นบ้า มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระต่อเครื่องพันธนาการ บังเกิดความสดชื่น เบิกบานใจ ไร้ความเศร้าหมอง ไร้ทุกข์ มีความสุขที่แท้, ชีวิตที่รู้เท่าทันและทำการตรงเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใสเป็นอยู่ด้วยปัญญาไม่หลงทางอีกต่อไป
เรียกว่า “บัณฑิต “(ผู้รู้ )”
การดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นต้องมีแบบแผนมีการเตรียมการก่อนเดินทาง ไม่เช่นนั้นจะเดินผิดทางหลงทางเสียเวลาเสียอนาคต การจะเกิดมาเป็นคนนั้นยากนักหนา แต่การดำรงชีวิตให้อยู่ได้โดยไม่เสียชาติเกิด เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีจะทำอย่างไรให้ชิวิตไม่ขาดทุนและไม่ขาดบุญยิ่งยากลำบากเป็นหลายเท่าพันทวี จึงอยากแนะนำแผนที่ธรรมซึ่งเหมาะควรนำไว้ติดตัวติดใจ เพื่อใช้ ในการเดินทางสู่ความสงบเย็น อันสว่าง สะอาดนั้น แผนที่ธรรมที่จะแนะนำเพื่อใช้เป็นคู่มือการเดินทางนั้นคือ เรื่องราวของอริยะมรรคมีองค์ ๘

อริยะมรรคมีองค์ ๘ คือ หนทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐสู่ความเป็นอริยะ
มรรคองค์ที่ ๑ สัมมาทิฎฐิ- ความเห็นชอบ มรรคองค์ที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ- ความดำริชอบ
มรรคองค์ที่ ๓ สัมมาวาจา-เจรจาชอบ มรรคองค์ที่ ๔ สัมมากัมมันตะ- กระทำชอบ
มรรคองค์ที่๕ สัมมาอาชีวะ- เลี้ยงชีพชอบ มรรคองค์ที่ ๖ สัมมาวายามะ- พยายามชอบ
มรรคองค์ที่๗ สัมมาสติ- ระลึกชอบ มรรคองค์ที่ ๘ สัมมาสมาธิ – ตั้งจิตมั่นชอบ

เกริ่นเรื่องอริยมรรคมีองค์แปดประการแล้วเท่ากับเราได้เริ่มต้น การเดินทางชีวิตที่ถูกต้องและปลอดภัย ปิดหนทางไปนรกอย่างถาวรไว้ติดตามตอนปฏิบัติธรรมกันต่อในคราวหน้า ธรรมย่อมชนะอธรรมเสมอ ขอเพียงเราฉลาดที่จะคิดและฉลาดทำอย่างผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จงศรัทธาเชื่อมั่นและเคารพในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าเถิด

ขอธรรมจงรักษาผู้ประพฤติธรรม
เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม

ไม่มีความคิดเห็น: