เสบียงธรรมนำชีวิต
พระโอวาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงกรุณาตรัสสอนไว้ให้พุทธบริษัทได้พึงปฏิบัติตาม
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง,
กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง, การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้,เป็นคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
การไม่พูดร้าย,การไม่ทำร้าย, การสำรวมในปาฏิโมกข์, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง, ธรรม ๖ อย่างนี้, เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
“เสบียงธรรม” จุดมุ่งหมายที่จะพูดในความหมายของเสบียงธรรม คือ เป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่มั่นใจว่า อย่างไรซะเราก็ต้องกลับมาเกิดอีกแน่นอนแต่จะเกิดเป็นอะไรนี่สำคัญกว่า ตามหลักพระพุทธศาสนากล่าวว่า คนเราสามารถกำหนดได้ว่าจะไปเกิดเป็นอะไรก่อนที่ตนเองจะตาย กำหนดช้าสุดก็ตอนลมหายสุดท้าย หรือถ้าคนใดรู้เท่าทันกรรม ก้อกำหนดทุกลมหายใจรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เชื่อในพระธรรมที่ว่า “บาปมีจริง บุญมีจริง ทุกอย่างถูกกำหนดด้วยกรรม” คนฉลาดย่อมสามารถกำหนดชาติใหม่กันตั้งแต่ยังไม่ตาย รีบเก็บเกี่ยวคุณงามความดี สั่งสมบุญบารมีอันขาวรอบเพื่อเป็นเสบียงไปไว้ใช้ในลมหายใจหน้า ที่สุดคือชาติหน้าหรือจนกว่าจะสู่แดนอมตะคือแดนนิพพาน
เสบียงธรรม คือ เสบียงบุญ เสบียงที่ใช้เลี้ยงชีวิต จะยากดีมีจนก็อยู่ตรงนี้แหละว่าใครพกบุญมามากกว่ากัน คนไหนขนเอาบาปติดตัวมามากชีวิตก็ทุกข์ทนทุรนทุรายมาก จะตายก็ไม่ได้ต้องทนทุกข์ไปจนกว่าจะสาสม ส่วนคนไหนนำบุญติดตัวมามากชีวิตก็ดูวิจิตรบรรจง ขนาดถ้วยชามช้อนส้อมยังตกแต่งด้วยลายทองก็มากมี มันเป็นเรื่องที่น่าทึ่งแต่เป็นเรื่องจริง นั่นสิแล้วเราๆท่านๆ จะมัวปล่อยให้ชีวิตล่องลอยไปวันๆ อย่างเรือไม่มีหางเสือกันอย่างนั้นหรือ ไม่อยากลำบากอีกต่อไป ไม่อยากกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในสิ่งที่น่าเบื่อที่สุดอีกต่อไป ก้อคงต้องมาศึกษาหาวิธี เตรียมเสบียงไว้ยังชีพเป็นประเด็นแรก ก่อนออกเดินทางสู่หนทางแห่งมรรค ก้าวล่วงพ้นจากกรรม
มนุษย์แบ่งออกเป็น ๔ เหล่า คือ
๑. มืดมามืดไป ๒. มืดมาสว่างไป
๓. สว่างมามืดไป ๔. สว่างมาสว่างไป
ตามที่บางท่านอาจเคยได้ยินข้อธรรมเหล่านี้มาบ้างแล้ว แต่เคยสำรวจตนเองบ้างหรือไม่ว่า ตนนั้นเข้าข่ายในข้อไหนถ้าเป็น ข้อหนึ่ง ผู้ที่มืดมาแล้วมืดไป ได้แก่ บุคคลที่เกิดมามีแต่ความขัดสนจนยาก เกิดในตระกูลต่ำ ทั้งยังมีโรคภัยเบียดเบียน นิสัยใจคอเป็นคนตระหนี่ กาย วาจา ใจยังหยาบกระด้าง ทำแต่ความชั่วมิได้มีความละอายใจแต่อย่างใด เมื่อตายเห็นทีน่าใจหายน่าสงสารเพราะอเวจีนรกเป็นที่หมายแน่นอนมาจากนรกก็กลับไปนรกช่างน่าเศร้าจริง
ข้อสอง ผู้ที่มืดมาสว่างไป หมายถึง ผู้ที่เกิดมาในตระกูลต่ำแต่มีใจศรัทธาในการทำความดี นับถือพระพุทธศาสนาละเว้นความชั่วกลัวอบาย ก็ค่อยยังชั่วหน่อยควรแสดงความยินดีด้วยที่ชีวิตมีการพัฒนาบ้างที่ได้รู้วิธีพัฒนาจิตวิญญาณให้ดีขึ้นพ้นจากอเวจีขึ้นมาได้ตายไปสู่สุคติโลกสวรรค์เป็นที่หมาย
ข้อสาม ผู้ที่สว่างมามืดไป นี่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่บุญเก่าหนุนส่งให้เกิดมาในตระกูลดี มีฐานะ มีความพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ข้าทาสบริวาร แต่กลับไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนมี กลับนิยมสร้างแต่กรรมชั่วไม่เกรงกลัวต่อบาปบุญคุณโทษใดๆ อุตส่าห์สั่งสมเสบียงบุญมาดีกลับประมาทพลาดท่าให้กับมารพากลับลงไปท่องนรกกันอีก
ข้อที่สี่ ผู้ที่สว่างมาแล้วสว่างไป เป็นบุคคลที่มาดีไปดีแบบสมบูรณ์แบบ็็้็น มาอย่างสะอาดกลับไปยิ่งสะอาดใหญ่เรียกว่ากินใช้อย่างไรก็ไม่หมด คือ ผู้ที่เกิดมาในตระกูลดี พรั่งพร้อมด้วย รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ปัญญาสมบัติ อีกทั้งยังชอบสร้างบุญสร้างกุศล รักษาศีล ประพฤติธรรมเป็นนิจ ดังนั้นเมื่อตายแล้วจะได้ไปจุติในสุคติสวรรค์แน่นอน
ที่พูดทั้งหมดนี้มิใช่อะไรเป็นเรื่องของผู้ที่มีวาสนาสั่งสมบารมีอย่างชาญฉลาด หรือว่าโง่กับการใช้ชีวิตแบบให้ผ่านไปวันๆ อย่างไร้คุณค่า น่าเสียดายจริงๆ
ก่อนที่จะรู้วิธีเตรียมเสบียงบุญเราควรจะมารู้จักตนเองก่อนว่าเราเป็นคนเช่นไร
ประการแรกลดทิฐิมานะ ตัวทิฐิเป็นตัวโง่ที่ใส่เสื้อทอง เป็นสิ่งที่มนุษย์หรือคนชอบหามาเลี้ยงไว้ในขันธสันดาน โดยไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนแก้ไขได้ยาก เพราะคนเหล่านี้มักเป็นพวกสุดโต่ง เช่น
เก่งมาก ทำอะไรก็สำเร็จ จึงรู้สึกว่าไม่ต้องมีใครมาเตือน อย่ามาสอน อย่ามาแนะนำ เพราะเขารู้ทุกอย่าง คนอื่นรู้น้อยกว่าตน(บางทีมีการลองภูมิกันด้วยซ้ำไป) อีกพวกโง่แล้วอวดฉลาดเพราะชอบอวดอ้าง ยกตนข่มท่าน พยายามแสดงว่าตนเองเป็นเลิศไปเสียทุกสิ่งแต่ไม่รู้จริงสักอย่าง อีกพวกคือโง่จริงๆไม่รู้ว่าตัวเองโง่และยังภูมิใจที่จะโง่ต่อไป พวกนี้โบราณว่าถ้าอยู่ในกองทัพให้ฆ่าทิ้งเสีย ที่กล่าวมาเป็นเพียงอุปมาอุปมัย จุดมุ่งหมายที่แท้จริงเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า ดวงจิตของคนเรามีอะไรแอบซ่อนอยู่ ควรสอดส่องให้รู้แจ้งแล้วรีบแก้ไขข้อเสียนั้นด่วน ดวงจิตจะได้ส่องประกายความสว่างไสวพร้อมรับผลแห่งบุญกุศล แก้และลดวิบากกรรมได้ บางท่านทำบุญอย่างไรก็ไม่เห็นบุญ เพราะติดตัวโง่นั่นเอง
วิธีแก้ไช
๑. ลดทิฐิมานะในตัว จุดแรกเราต้องทำใจกว้างๆ ก่อนว่า เรายินยอมให้แสงธรรมเข้ามาสาดส่องดวงจิตของเรา จิตของเราต้องการแสงสว่างให้เข้ามาขจัดความมืดบอด และพร้อมกันนั้นก็ต้องการผู้ชี้ทางออกให้ พร้อมที่จะปฎิบัติธรรมเพื่อมีชีวิตที่สงบเย็นเป็นสุขอันเกษมอย่างแท้จริง จิตดวงนี้ยอมน้อมลงเพื่อที่จะหยุดแรงกรรมกำจัดความมืดแห่งทิฐิตัวโง่นั้น ยอมที่จะอ่อนน้อมและตั้งศรัทธามั่นในพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระภควันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไม่ติดสงสัย และต้องยอมให้ถูกขัดเกลากิเลสเพื่อให้เกิดมิติใหม่แห่งการดำเนินชีวิต เมื่อทั้งหมดพร้อมแล้วก็เริ่มดำเนินการปฎิบัติธรรมกันต่อไป
๒. ยอมรับเรื่องของกิเลส ที่อยู่ในจิตของเราว่าเรามีกิเลสหนาอยู่ อยากจะขัดเกลากิเลสเหลือเกิน หากไม่อยากก็ยากที่จะขัดเกลา เพราะเรายังรักกิเลสอยู่ ยังเสียดายกิเลสอยู่ เมื่อยังรักยังเสียดายก็ยากแก่การขัดเกลาให้เบาบางหรือหายไปได้ แต่ถ้าเราเบื่อมันแล้วเพราะมันเป็นของร้อนอยากพบกับความเย็นบ้าง มันเป็นของทำให้เราดิ้นรนไปไม่หยุดสักทีเหนื่อยเหลือเกินแล้ว ก็ต้องดับกิเลสตัวไฟ ตัณหาราคะ ตัวอุปปาทานให้หมดไป ลองถามตัวเองสักทีว่าเหนื่อยพอหรือยัง
๓. จิตใจอ่อนโยน จิตมันกระด้างมานาน หยาบคายมานาน ความกระด้างกระเดื่องในธรรมมานาน รู้สึกได้ว่าตนเอง เป็นคนเถื่อน ไม่อยากบ้าใบ จิตใจกระด้าง ไม่อยากเป็นคนเถื่อนก็เริ่มเข้าหาธรรมะ เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่ทำให้คนเป็นคนว่าง่าย เป็นคนอ่อนโยน เป็นคนมีจิตใจดี มีการกระทำดี และที่สำคัญเป็นคนเสียสละ และพร้อมให้ความรักต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลกทั่วจักรวาลไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ทุกคนเสมอกันทุกคนเป็นมิตรต่อกันสังคมมันก็สงบสุข โลกและจักรวาลก็สงบสุข เมื่อทุกอย่างสงบสุข ก็ไม่ต้องมีการรบราฆ่าฟัน ไม่ต้องทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่มีศัตรู ไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน อะไรมันจะดีไปกว่านี้
เตรียมเสบียงไปเลี้ยงจิต การเดินตามรอยพระบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินตามรอยเท้าพ่อ-แม่ ครูบาอาจารย์ ไปในทิศทางอันเจริญไม่ตกไปสู่ทางเสื่อมทราม ไม่ให้ตนเป็นคนไร้ศีลขาดธรรมจนกลายเป็นผู้เกิดมาตายเปล่าไร้ประโยชน์ (ประโยชน์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผลตอบแทนทางโลก) เรียกว่า “วิธีขจัดตัวโง่ออกไปเอาตัวปัญญาเข้ามาเป็นเจ้าเรือนแทน” อ่านมาถึงตรงนี้คงอยากทราบรายละเอียดแบบหยั่งลึก ชนิดถอนรากถอนโคนเจ้าต้นทิฐิมานะกันแล้วกระมัง ถ้าเช่นนั้นเรามากำจัดเจ้าต้นวัชพืชชีวิตพร้อมๆ กันดีกว่า คำว่า เสบียง หมายถึง สัมภาระที่จัดเตรียมในการเดินทาง เช่น อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค น้ำดื่มเป็นต้น และคำว่าเสบียงก็ยังหมายถึงของจำเป็นเท่านั้นสิ่งใดไม่จำเป็นก็ไม่ควรนำไป เพราะจะเกิดเป็นภาระให้ลำบากเปล่าๆพระธุดงค์หรือผู้ที่นิยมการเดินป่าหรือผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำ ย่อมรู้จักคำว่าเสบียงได้ดี และสามารถจัดเสบียงได้ดีด้วย เพราะรู้และเข้าใจว่าสิ่งใดควรนำติดตัวไปสิ่งใดไม่ควร หากพกสิ่งไม่จำเป็นจริงๆ ติดตัวไปก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักสร้างภาระอันหนักหนาสาหัสให้กับตนในขณะการเดินทางไกลนั้น
เสบียงธรรม ที่ต้องเตรียมในการเดินมีอยู่ ๕ สิ่งที่สำคัญมากห้ามลืมเด็ดขาดคือ
๑. จิตที่อ่อนน้อม แต่ไม่อ่อนแอ
๒. ความศรัทธาที่มั่นคง พกไปให้เต็มกระเป๋า จนไม่สามารถบรรจุอะไรได้อีกแล้ว
๓. ร่างกายและจิตใจที่ตั้งตรง ( รักษาศีลปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ) ไม่โน้มเอียงไปทางที่ชั่ว
๔. ความพร้อมที่จะเรียนรู้ไม่ทำตนเป็นน้ำที่เต็มแก้ว และคอยสอดส่อง เพิ่มเติมองค์ความรู้ที่
ถูกต้อง แก้ไขสิ่งที่มืดบอดขจัดความโง่และความดื้อด้าน ความสกปรก ที่สะสมในใจมานาน
ให้หมดไป
๕. ยอมถูกขัดเกลาจิตใจเพื่อเดินสู่ทางสายธรรม ต่อไป
ประการที่สองความหลง คนหลงมีมากมายเหลือเกิน หลงชีวิต หลงลาภยศ หลงสรรเสริญ หลงสุข-ทุกข์ หลงตน หลงรัก-ชัง หลงอาฆาตพยาบาท หลงทรัพย์สินเงินทอง หลงลูก-ผัว-เมีย หลงทรัพย์สินเงินทองพัสถานนาๆ และหลงผิด ทั้งหลงดี-หลงชั่ว ความหลงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เสียเวลาเป็นอย่างยิ่ง เหมือนเดินในเขาวงกตเลยทีเดียว กว่าจะออกมาได้บางคนแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ถ้าเดินออกมาจากวังวนนั้นได้ มีหลายคนที่ปฏิญาณตนว่าไม่ขอกลับไปอีกจนวันตาย ถ้าต้องเกิดใหม่ก็ขอให้มีปัญญาขอบุญรักษาให้พ้นจากความหลงทั้งปวงกันเลยทีเดียว เพราะทางมีให้เดินมากหลายทาง แต่ทางเดินใหญ่ๆมีเพียง ๒ ทางเท่านั้นคือ ทางดี กับ ทางชั่ว ซึ่งในหัวข้อทางดี ๑ และทางชั่วอีก ๑ นี้ ในแต่ละทางยังแบ่งแยกย่อยเป็นรากแขนงและรากฝอยไปอีกนับไม่ถ้วน ตามความชอบของแต่ละคน
ถ้าเปรียบชีวิตเป็นเส้นทางแห่งการเดินทางให้เหมือนเส้นทางการเดินรถก็คงไม่ต่างกันเท่าไร คนหนึ่งคนจะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้นั้น ย่อมต้องผ่านอะไรต่อมิอะไรมากมายเข้ามาในชีวิต ทั้งสุขและทุกข์นานา บ้างก็มีเส้นทางเปรียบดั่งโรยด้วยกลีบกุหลาบ บ้างก็ย่ำเดินบนเสี้ยนหนามอันแหลมคมเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส แต่สิ่งหนึ่งที่คนจำนวนมากพากันลืมไปอย่างสนิทใจ นั่นคือ แผนที่ชีวิต สิ่งๆนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ไม่ควรลืม นอกจากจะต้องใช้แผนที่แล้วยังต้องมี กำลังกาย กำลังใจและพลังแห่งความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ เพื่อใช้ในการก้าวเดินไปสู่จุดหมาย นั่นคือ ชีวิตที่สงบเย็นไม่กลับมารุ่มร้อนทุรนทุรายดั่งถูกไฟนรกแผดเผาอย่างทุกข์ทรมานไม่รู้จักจบสิ้น
แผนที่ชีวิต แผนที่ชีวิตนี้ควรศึกษากันให้ดี อ่านให้เป็น ศึกษากันให้ทะลุ เดินให้ถูกทางไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางลัด แต่ที่สำคัญต้องเป็นทางที่ถูกต้อง และถูกควร ผู้บัญญัติแผนที่ชีวิตไว้ให้เราได้ศึกษาและเดินตามนั่นคือ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระพุทธเจ้านั่นเอง ท่านได้เดินนำทางพวกเราไปก่อนแล้ว ท่านได้ทรงตรัสไว้ว่า
“เส้นทางธรรมนี้ทุกคนต้องเดินเอง ปฎิบัติเอง รู้เองเห็นเอง เราเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น” ท่านไม่สามารถที่จะทำแทนใครได้ ทุกอย่างเป็นปัจจัตตังอีกทั้งยังแบ่งมนุษย์ออกเป็น ๔ เหล่าเปรียบคล้ายดอกบัว ๔ เหล่าตามที่เราท่านทั้งหลายเคยศึกษา ได่ยินได้ฟังมานั่นเอง ถ้าเรากลับมาย้อนคิดว่า พระองค์ท่าน กำลังตรัสชี้แนะอะไรให้กับเรา ท่านให้ความรักความเมตตา กรุณาปราณีกับสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าจริงๆ แต่สัตว์โลกทั้งหลายเหล่านั้นจะรับความเมตตาจากท่านได้ไม่เท่ากันตามแต่เหตุแห่งบุญกรรมของแต่ละดวงจิตดวงวิญญาณ แรงกรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากและมีความเที่ยงธรรมที่สุด
เมื่อรู้เช่นนี้แล้วเราก็ควรเป็นผู้ฉลาดที่เลือกกระทำในสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ เหมือนการเลือกกินอาหารควรเลือกกินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น สิ่งที่เป็นพิษเราก็ไม่กินร่างกายก็แข็งแรงไม่มีโรคภัยเข้ามาเบียดเบียนมันก็เท่านั้น แต่ในการปฏิบัติธรรมมันละเอียดกว่านั้น มันพิถีพิถันกว่านั้นมันต้องตั้งใจอย่างมาก ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไป ทำไปทำไมก็ไม่รู้อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ เช่นเดียวกันการสร้างกรรมคือการกระทำที่เป็นประโยชน์กับตนเอง ถ้ายังโง่อยู่ก็คงตั้งใจสร้างแต่กรรมชั่วการกระทำที่ชั่วต่อไปก็เข้าสู่นรกอเวจีนั้นเอง
การที่คนเรายังยึดโน่นนี่อยู่ ยังมีตัวกูอยู่ ยังมีของกูอยู่ เห็นทีจะแย่ ดัง บทภารสุตตคาถา
ภารา หะเว ปัญจักขันธา, ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนักเน้อ,
ภาระหาโร จะ ปุคคะโล, บุคคลแหละ เป็นผู้แบกของหนักพาไป,
ภาราทานัง ทุกขัง โลเก, การแบกของหนักเป็นความทุกข์ในโลก, เป็นต้น
อ่านมาถึงตรงนี้บางท่านเริ่มเกิดปัญญาเริ่มรู้แล้วว่าเราแบกภาระไว้อย่างหนักเป็นทุกข์มาก แต่ถึงกระนั้น บางสิ่งก็ยังเป็นของที่ต้องรับไว้เป็นภาระต่อไป มิใช่ว่าจะตัดได้ทีเดียว คงจะต้องสั่งสมบารมีธรรมค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆแก้ไข การไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ฟังดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย ฟังดูยากแต่มันไม่ยากมันอยู่ที่เรา ตัวเราเท่านั้นที่พร้อมที่จะเข้าใจและสละตัวกู คำว่าตัวกูแค่คิดก็มากมายหลายอย่าง เช่น ลูกกู ผัวกู เมียกู สมบัติกู ลาภยศสรรเสริญก็ของกู พอเสียของกูไป ก็เสียใจว่าของกูเสียไป เพราะตามสติไม่ทัน ว่าโลกนี้เป็นของคู่กัน ๔ คู่ นั้นคือโลกธรรม ๘ มีได้มาสุดท้ายก็ต้องเสียไป มีรักย่อมมีชัง มีได้ลาภยศ ย่อมเสื่อมลาภเสื่อมยศ มีสรรเสริญย่อมมีนินทา เป็นต้น เมื่อมีสติย่อมไม่มีตัวกูไม่มีของกู แต่ถ้าตามสติไม่ทันย่อมเป็นทุกข์เพราะทุกอย่างเป็นของกูทั้งนั้นยึดไว้แน่นมากเท่าไรก็ทุกข์มากเท่านั้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า
วาจาสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม
เหมือนดอกไม้งามแต่ไม่มีกลิ่น
วาจาสุภาษิต ย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี
เหมือนดอกไม้งามมีทั้งสีและมีกลิ่น ฉะนั้น
สรุป ท่านต้องการเป็นดอกไม้ที่สวยแต่รูป หรือสวยทั้งรูปและหอมทั้งกลิ่นเหมาะแก่การนำไปบูชาพระรัตนะตรัยก็เชิญเลือกกันตามแต่บุญบารมีเทอญ.
เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น