วันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ไม่เห็นทุกข์ - ไม่รู้ธรรม

การมองเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต เหมือนที่เปรียบไว้ว่า ดวงตาเป็นดังแสงสว่างแห่งดวงประทีป ถ้าดวงตาดับมืดบอดลงนั่นหมายถึงโลกนี้ดับมืดลงด้วย ดังนั้นดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างยิ่ง ต้องระมัดระวังรักษาถนุถนอมอย่าให้เขาเจ็บป่วยหรือเกิดเสื่อมสภาพน้อยที่สุด การมองเห็นภาพต่างๆเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา เมื่อมีภาพเข้ามากระทบกับตาของเราภาพนั้นย่อมส่งผลทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นที่กายและใจของเราเสมอ การมองเห็นของตาเราทำให้เราเกิดมีความรู้สึกต่างๆ ทั้งที่สร้างความสุขและก่อให้เกิดความทุกข์กับจิตใจบางครั้งก็รู้สึกเฉยๆไปก็มี

ดังนั้น เราต้องฉลาดแยกแยะภาพต่างๆที่จะไปสะสมให้เกิดอารมณ์ที่ส่งไปสู่จิตนี่เป็นเรื่องสำคัญ การเลือกดูภาพที่ให้ความรู้สึกดีๆ กับกายและใจของเรา เป็นการอบรมชีวิตและวิญญาณให้อ่อนละมุน สุนทรี และเกิดความเมตตา การรู้จักคัดกรองในสิ่งที่ต้องพบเจอต้องมองเห็นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง จงมองสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มองสิ่งที่ให้โทษนี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ท่านคงคิดว่าถ้าพูดอย่างนี้ทำได้ยาก เพราะการมองเห็นเป็นเรื่องที่ต้องพบต้องเจอกับสิ่งทั้งหลายมากมาย ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเห็นอะไรพบอะไรไว้ล่วงหน้าได้ แต่ถ้าเราพิจารณาให้ลึกลงไปเรามีสิทธิที่จะเลือกสิ่งต่างๆที่ดีๆให้กับตัวเองได้ ไม่ใช่ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามเวรตามกรรมอย่างไร้จุดหมาย เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ถ้าเราไม่ปล่อยให้อารมณ์เป็นผู้นำ แต่เราควรอย่างยิ่งที่ต้องใช้สติ-สัมปชัญญะในการจัดสรรสิ่งต่างๆเพื่อตัวเราได้ และตัวสตินี้แหละที่ต้องฝึกฝนให้มาก ให้ชำนาญคือ ฝึกให้ตนมีสติเสมอ ตลอดเวลารู้ว่าตนทำอะไรอยู่ เช่น ขณะนี้เรายืนอยู่หน้าร้านหนังสือ มีหนังสือ นิตยสารมากมายวางเรียงรายอยู่เบื้องหน้า ทั้งชนิดที่เป็นวิชาการ บัญเทิง ข่าวสาร ขบขัน และหนังสือยั่วยุให้เกิดกิเลสตัณหาราคะที่วางจำหน่ายอยู่ดาษดื่นหรือแม้กระทั้งหนังสือธรรมะฯลฯ แต่ละชนิดยังแยกย่อยออกไปอีก ทั้งที่มีประโยชน์จริงและไม่ค่อยจะมีประโยชน์ เนื้อหาสาระแก่นสารไม่ค่อยมีแต่เอื้อประโยชน์ทางการค้าและยั่วยุให้หลงผิดนั้นมีมาก นี่ก้อต้องใช้วิจารณะญานให้มากๆในการเลือกซื้อ ทำไมจึงยกตัวอย่างเป็นเรื่องหนังสือ เพราะเหตุว่า หนังสือเป็นสื่อที่อยู่คงทนถาวรสามารถตกไปสู่มือหนึ่งๆได้จนชั่วลูกหลาน พกพาสะดวก จึงต้องยิ่งระวังให้มากเพราะถ้าเผยแพร่สิ่งไม่ดีโดยขาดสามัญสำนึก ขาดคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว นั่นก็หมายถึงมรดกที่เรามอบให้ไว้กับเยาวชนและสังคมทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจจากเงื้อมมือของเราเอง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นผู้มีพระปัญญาอันยิ่ง ท่านตั้งคำถามขึ้นว่า ความทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่นี้ อันมี ความเกิด แก่ เจ็บ และตายในที่สุดนั้น เป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ทุกข์กว่านั้นคือ ความซ้ำซากที่ต้องเกิด-ตาย วนเวียน วกวนซ้ำซากกับการเกิด-ตาย หลายพบชาติ แล้วทำไมคนเราและสรรพสัตว์ทั้งหลายจึงไม่หลุดพ้นจากทุกข์ที่เวียนว่ายตายเกิดนี้เสียที สิ่งนี้ตอนที่ท่านเสวยพระชาติเป็นพระสิทธัตถะกุมารในเบี้องต้นท่านก็ยังไม่แจ้ง ไม่รู้จักเลย มารู้สึกก็เมื่อครั้งที่ท่านเสด็จออกนอกพระราชวัง ได้พบความจริงของสิ่งทั้งหลายว่า ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง ล้วนเป็นทุกข์น่าสังเวทจริงๆ คิดได้ดังนั้นท่านจึงสละทุกสิ่งในชีวิตเพื่อการนี้ เพื่อค้นหาวิถีทางแห่งการระงับทุกข์ การออกจากทุกข์ อย่างไม่ต้องกลับมาทุกข์อีก ท่านทำเพื่อใคร? พวกเราเคยลองย้อนกลับไปคิดกันหรือไม่ โดยมากคิดแต่ว่าเราจะทำอะไรอย่างไรจึงได้บุญมากๆ จะได้พ้นทุกข์เร็วๆ มิหนำซ้ำยังคิดแบบเปิดปุ๊ปกินได้ปั๊ปซะด้วย ทำบุญปุ๊ปต้องได้รับการตอบรับแห่งบุญทันทีคือ...........(เติมความต้องการเอาเองแล้วแต่กิเลสของคนนั้น) คงคิดว่าการทำบุญเหมือนกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมั๊ง หรือประเภทกินด่วนตามห้างดังๆทั้งหลาย บ้างก้อคิดว่าจะทำบุญอะไรหนอจึงรวยได้ดังใจหวังชนิดทันตาเห็นด้วยนะประเภทบุญหล่นจากฟ้า น่าหัวร่อและน่าอายเป็นที่สุด เคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า กว่าที่พระเจ้าสิทธัตถะจะบรรลุธรรม รู้แจ้งในพระธรรม และได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านต้องแลกด้วยทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดในชีวิตที่มี แม้กระทั่งเลือดเนื้อในกายทั้งหมดที่มีทีเดียว เคยมีคนคิดถึงความทุกข์ยากลำบากของพระองค์ท่านบ้างไหม? ฝากให้ชาวพุทธช่วยกันคิดสักนิดค่ะ

สรุป เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราปราถนาว่า ต้องพ้นทุกข์เป็นความจริง ถ้าไม่พ้นทุกข์ก็ขอให้ความทุกข์ทุเลาเบาบางลงบ้างนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด ให้สมกับที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงฝากเรื่องนี้ไว้ให้กับลูกหลานเช่นเราได้ศึกษาและปฏิบัติไว้เป็นตัวอย่างมาสองพันกว่าปี มีคุณค่า มีคุณประโยชน์จริง เราทั้งหลายที่เรียกตนว่า พุทธศาสนิกชนคนชาวพุทธควรสำเนียกไว้คือ เลิกมอมเมาชาวพุทธแบบมีมายากันได้แล้ว หันมาปฏิบัติธรรมบริสุทธิ์กันเถอะ ปาฏิหารย์จะมีจริงก็ต่อเมื่อท่านมี ความมีศรัทธาแท้แน่วแน่ต่อพระรัตนะตรัย มีการรักษาศีล มีการเสียสละ ที่สำคัญดำเนินชีวิตด้วยปัญญา นั้นแหละท่านจึงพบหนทางแห่งความก้าวล่วงทุกข์และเป็นหนทางแห่งอริยะชน สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.

แก้วเกษม ศรัทธาโพธิธรรม

วันอังคารที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ชีวิตนี้มีความจริง

ความจริง เป็นเรื่องที่ทุกคนชอบและต้องการ มนุษย์ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายล้วนเกลียดความเท็จ เกลียดความจอมปลอม เกลียดความหรอกลวงและรังเกียจการโกหกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้ารู้ว่าตนเองถูกหรอกด้วยแล้วยิ่งโกรธเคืองเป็นที่สุด ดังนั้นเราจึงเห็นว่าศีลข้อที่ 4 คือ มุสาวาทเป็นศีลข้อสำคัญยิ่งข้อหนึ่งในจำนวนศีลทั้ง 5 ข้อ

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เป็นบุคคลที่กล่าวแต่ความจริงทั้งสิ้น พระองค์ไม่เคยกล่าวคำเท็จแม้แต่เพียงคำเดียว พระวาจาของพระองค์บริสุทธิ์ที่สุดจริงที่สุด พระพุทธเจ้าค้นคว้าค้นหาและค้นพบ เรื่องราวของความจริงทั้งหลายทั้งมวลในโลกและนอกโลกเป็นความจริงที่สัมผัสได้ พิสูจน์ได้ ความจริงที่เป็นอมตะ ไม่จำกัดกาลเวลา ไม่จำกัดเพศและวัย เป็นเรื่องราวความจริงของชีวิตซึ่งเป็นศาตร์วิชาที่สูงสุดของโลกไม่มีวิชาใดที่จะสูงไปกว่านี้อีกแล้ว นั่นคือ พุทธศาตร์

ท่านและเราเคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่าเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทราบทุกอย่างในโลกและนอกโลก ในกายและนอกกายได้อย่างละเอียดละออที่สุดปานนั้น เคยมีคนมากมายกล่าวว่าท่านเป็นคนที่มาจากนอกโลก หรือบางคนบอกว่าท่านเป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์มากเกินกว่าที่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายจะเทียบได้ นั่นก็เป็นเรื่องของความคิดของแต่ละคน เรายกประเด็นนี้ออกเสีย แล้วมาคุยเรื่องความจริงดีกว่า ที่แท้ความจริงปรากฏอยู่ตลอดเวลาทุกๆ ลมหายใจเข้า-ออก แต่เราไม่ละเอียดพอ ไม่ช่างสังเกต ไม่รู้ ไม่เห็นและไม่พยายามยอมรับความจริงตะหากนี่คือ ประเด็นสำคัญ เรายังแข็งกระด้างอยู่ เรายังปิดบังอำพรางตัวตนอยู่ เรายังใช้อารมณ์เป็นใหญ่อยู่นี่คือ ม่านดำบังตา – บังใจและบังปัญญา ย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล สมเด็จพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าก็ปิดบังความจริงกับพระราชโอรสคือ เจ้าชายสิทธิธัตถะ ว่าโลกนี้มีแต่ความน่ารื่นรมย์ ความสุขสนุกสำราญใจ ไร้ทุกข์ทั้งปวง (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) มอบแต่ความสุขให้กับพระราชโอรส ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางโลกีย์ทรงมอบให้อย่างมากมาย มอบความมีตัวตนให้กับพระราชโอรสอย่างเต็มที่ ปิดบังโลกภายนอกไว้ ไม่ให้เห็นความจริงทั้งมวลที่อยู่ภายนอกพระราชวัง นี่เรียกว่า พระราชบิดากำลังปิดบังความจริงของโลก หรือ จะเรียกว่ากำลังโกหกลูกก็ได้

แต่แล้วกรรมลิขิตให้เจ้าชายสิทธิธัตถะได้รับรู้ความจริงว่า ในโลกนี้ใช่มีแต่สุขเพียงอย่างเดียว แต่โลกนี้ยังมีความทุกข์ร่วมอยู่ด้วย โลกนี้ใช่มีแต่พระราชวังอันยิ่งใหญ่แต่ยังมีขอทานนอนข้างถนนไร้ที่อยู่อาศัยอดอยากยากแค้นแสนสาหัสอยู่ข้างพระราชวังอีกจำนวนมาก โลกนี้ใช่มีแต่เสียงประโคมดนตรีอันเสนาะไพเราะยิ่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเสียงคร่ำครวญโหยหวนอย่างเจ็บปวดทุกข์ทรมานของผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งทางกายและทางใจจำนวนมหาศาล และโลกนี้ใช่มีแต่การเกิดมันยังมีความตายที่ชิดแนบสนิทกับตัวบุคคลทุกคนอีกด้วย (เหมือนดังกายเนื้อกับเงาที่ติดตามกันอย่างแยกกันไม่ได้ เงาเป็นเครื่องเตือนให้เรารู้ว่า กรรมคอยติดตามเราไปทุกหนแห่งที่เราเกิด และเงายังเป็นเครื่องเตือนใจให้คิดถึงความตายได้อีกด้วย ว่าเมื่อใดกายหยุดเคลื่อนไหวอย่างสนิทเงานั้นก็หายไป นั่นคือ ท่านได้ตายแล้ว แต่สิ่งที่เหลืออยู่คือ กรรม ที่ยังไม่ตาย กรรมจะตายก้อต่อเมื่อเราดับสนิทแล้ว เท่านั้น)

เมื่อวันหนึ่งมาถึง พระองค์เห็นความจริงของชีวิตที่พระองค์ไม่เคยรู้มาก่อนทั้งหมดดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของความจริงทั้งหมดในโลก ถ้าพิจารณาทบทวนให้ดีพระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น เป็นบุคคลเดียวและบุคคลแรกของโลกที่ประกาศความจริงของชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ปรากฏขึ้นอย่างองอาจที่สุด ไม่มีพระเจ้าองค์ใดในศาสนาใดที่กล้ากล่าวความจริงนั้นๆ โดยมากมักสอนให้ตั้งความหวังและฝากความหวังไว้กับการบูชา หรือบูชายันต์หรือการฝากชีวิตไว้ในกำมือของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่สามารถประทานทุกอย่างให้กับผู้ที่สังเวยหรือถวายเครื่องบรรณาการให้กับพระผู้เป็นเจ้า หรือ บริวาลของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเต็มที่บางลัทธิถึงกับต้องสังเวยชีวิตคน หรือสัตว์ หรือสังเวยความสาวให้กับสาวกของพระเจ้าในลัทธินั้นๆ นั่นถือว่าคนโง่ย่อมตกเป็นเหยื่อของคนโฉดผู้ขาดซึ่งศีลธรรมโดยสิ้นเชิง เราจะไม่พูดกันถึงเรื่องนี้ขอเพียงเราใช้วิจารณญาณให้ดีก็สามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องโดยไม่ยาก

มีเพียงศาสนาพุทธเท่านั้นที่กล่าวว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นจากกรรมและกรรมที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ผู้ใดกระทำกรรมอันใดไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นอย่างยุติธรรมที่สุด เมื่อเรากล่าวถึงกรรม พระพุทธเจ้าท่านก็อยู่ภายใต้กฏแห่งกรรมเช่นกัน พระองค์เป็นผู้มีความละเอียด เป็นผู้มีความอ่อนน้อม เป็นผู้มีจิตใจงดงามเปี่ยมด้วยเมตตาธรรมสูงสุดและเป็นผู้ประพฤติธรรมอันบริสุทธิ์มาโดยตลอดทุกภพชาติ ตามพระพุทธประวัติเราจะเห็นว่าไม่ว่าพระองค์ท่านจะไปเกิดในภพใดชาติใด เกิดเป็นอะไรก็ตามท่านจะไม่ประมาทในกรรม พระองค์เป็นผู้มีสัจจะประพฤติปฏิบัติแต่กรรมดีให้ดียิ่งๆขึ้น พร้อมงดเว้นจากกรรมชั่วทั้งมวลจนจิตบริสุทธ์ถึงขั้นปรมัตถ์ แล้วในชาติสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของโลก นี่คือ สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า กรรมมีจริง สิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศคือ เรื่องของกรรมทั้งสิ้น พระองค์สอนให้บุตรของพระองค์ ไม่ประมาทในกรรม ให้กำหนดรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอทุกลมหายใจเข้าออกเพื่อ อะไร เพื่อเป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติอันบริสุทธิ์ ถ้ากระทำกรรมใดก็ตามก็ต้องเป็นกรรมขาว กรรมดี หากแม้ยังไม่หมดภพชาติและต้องกลับมาเกิดอีกจะได้ไม่ตกต่ำกว่าชาติที่ผ่านมา นี่คือความฉลาดของผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติในพุทธศาสตร์ศาสนา เป็นความฉลาดที่บริสุทธิ์ รวมเรียกว่า ปัญญา เท่านี้แหละที่เป็นเบื้องต้นว่าทำไมเราจึงต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ถ้าไม่อยากตกต่ำ และปราถนาพ้นทุกข์กันจริงๆ ก็ต้องเชื่อว่า ทุกอย่างในโลกนี้เกิดขึ้นเพราะกรรมกำหนด และนั่นคือ เรามีความกตัญญูกตเวทิตา มีความศรัทธารักและเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราอย่างสูงสุด พระองค์คือ พระบิดาทางจิตวิญญาณของเรา พระองค์เรียกผู้ปฏิบัติประพฤติธรรมของพระองค์ว่า “บุตรแห่งเรา”

แต่ศาสนาพุทธไม่ได้กล่าวว่า ฝากชีวิตไว้กับพระเจ้า กลับกล่าวว่า

ผู้ใดประพฤติธรรม “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต”

ดังนั้นตนจึงเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น และนี่คือ ชีวิตนี้มีความจริง

ทุกคนชอบความจริงแต่ทุกคนกลัวความจริง ความจริงที่พระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวไว้คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อพบต้องพรากจาก ไม่อยากได้สิ่งที่ไม่ชอบ -ไม่อยากเสียของรักไป มีสุขต่อไปก้อต้องทุกข์ ต้องพบกับความบีบคั้นต่างๆนานาตลอดเวลา เป็นเช่นนี้ตลอด หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมันเป็นสัจจะ เป็นความจริง เป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วประกาศความจริงนี้ทั้งสิ้น ถ้าใจรู้ ใจกำหนดสติตามทัน จิตรู้ จิตกำหนด ที่สุดจิตเห็นธรรม (ความจริงของสิ่งทั้งปวงเรียกว่า โลก) ชีวิต จิตและธรรมในโลกของตัวเรา ก็สงบ สุข สว่าง สะอาด และที่สุดดับเย็นเป็นสูงสุด

แก้วเกษม ศรัทธาโพธิธรรม