ประโยคที่กล่าวนี้ “รู้อะไรก้อไม่เท่ารู้ตัว ลืมอะไรก้อไม่เท่าลืมตัว”นี้ นี่เป็นคำใหญ่เป็นหัวใจของชีวิต และเป็นสิ่งจำเป็นที่โลกนี้ต้องมี มันเป็นหลักเป็นแกนกลางเป็นหัวใจของโลกของจักรวาล เพียงประโยคสั้นๆเท่านี้ แต่มีพละกำลังมหาศาลยิ่งกว่าปรมณูเสียอีก เพราะสามารถเป็นผู้สร้างและเป็นผู้ทำลายที่มีอานุภาพมากถึงมากที่สุด และไอ้ประโยคสั้นๆแค่นี้แหละถ้าผู้ใดเข้าใจและมีปัญญา มีสติระลึกรู้ถึงคุณค่าของคำ มีวิธีทำประโยชน์และนำประโยชน์จากประโยคนี้มาดำเนินชีวิตที่มีอยู่น้อยในชาตินี้ ให้มีประโยชน์และมีค่าที่สุดได้ก็จะมีชีวิตที่คุ้มค่าที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
“รู้อะไรก้อไม่เท่ารู้ตัว ลืมอะไรก้อไม่เท่าลืมตัว” เป็นคติธรรมที่ต้องพกติดตัวติดใจติดจิตไว้ตลอดเวลา และต้องหมั่นฝึกฝนให้เคยชินจนเป็นนิสัยเป็นสันดานกันไปเลย เพราะเมื่อไรที่เราลืมตัวเมื่อนั้นความลำบาก ความทุกข์ยาก ความฉิบหายก้อจะมาเยือนมาเป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากกับเราทันที แน่นอนลืมตัวเมื่อไรได้เพื่อนทุกข์เพื่อนยากแน่ๆ ไม่มีวันได้เพื่อนสุขเพื่อนเกษมไปได้หรอก แต่ถ้ารู้ตัว รู้ตัว ไม่ลืมตัว เมื่อนั้นสิ่งดีๆ เพื่อนดีๆ เพื่อนแท้ เพื่อนสุขเกษมก็จะมาเป็นมิตรชิดใกล้กับเราเช่นกัน
“รู้อะไรก้อไม่เท่ารู้ตัว ลืมอะไรก้อไม่เท่าลืมตัว” เป็นคำเตือนที่ต้องสนใจ เป็นสัจจะไม่โป้ปด เป็นหัวใจของโลก ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนต้องดับไป เกิดขึ้นเท่าไรดับหมดเท่านั้นไม่มากไม่น้อยไปกว่ากันมันเท่ากันพอดี แต่ช่วงเวลาของการดำรงอยู่กว่าจะดับใช้เวลาไม่เท่ากันนะ และไอ้ความไม่เท่ากันของการดำรงอยู่นี้แหละคือแง่คิดที่ดี ว่าช่วงเวลาสั้นหรือยาวนี้ใครจะรู้ตัวก่อนกัน ใครจะลืมตัวกว่ากัน ยิ่งลืมตัวนานเท่าไรภพชาติก็ยิ่งยาวนาน ส่วนใครรู้ตัวก่อนการตัดภพตัดชาติก็ยิ่งสั้นเข้าๆ ความดับเย็น ความสิ้นภพสิ้นชาติก็ใกล้ความเป็นจริงเข้ามาทุกทีจนในที่สุดเป็นจริงได้ นั่นคือ หยุดเกิด ดังนั้น หัวใจสำคัญคือ ต้องรู้ตัว ต้องรู้ตัว อย่าลืมตัวเป็นอันขาด ชีวิตของเราทุกวันนี้ ที่ต้องพบกับความวุ่นวาย พบกับความร้อนใจร้อนกาย พบกับความยุ่งยากนานาประการก็เพราะลืมตัวนั่นเอง นี่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทุกๆประเภท เพราะเราลืมตัว ลืมตาย ลืมวัฎจักร ลืมศีลธรรม ลืมเมตตาธรรม ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง สรุปลืมตัวที่เป็นของตัวเองและของผู้อื่น เอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่เป็นสำคัญลืมหัวใจของความเป็นธรรม นี่แหละคือ จุดแห่งความเสื่อมที่แท้จริง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้สอนอะไร ลองคิดดูให้ดีๆ พระองค์ท่านทรงสอนเรื่อง “รู้ตัว” ไม่มีสักครั้งเดียวที่ท่านจะไม่กล่าวถึงความรู้ตัว แม้กระทั่งวาจาในครั้งสุดท้ายท่านก็กล่าวถึงความรู้ตัวอยู่นั่นเอง “จงวางตนไว้อยู่ในความไม่ประมาท” แปลว่ารู้ตัว ขณะที่สอนการปฏิบัติธรรมพระองค์ท่านก็สอนให้ รู้ตัวทั่วพร้อมอีก ให้มีความรู้ตื่นตลอดเวลา นั่นคือสติปัฏฐาน 4 (ทางสายเอกสู่ความหลุดพ้นมุ่งสู่พระนิพพาน) ลึกลงไป ต้องรู้ถึงว่า เราเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรอยู่ เกิดมาทำไม และที่สุดจะไปไหน ระลึกให้ได้ ระลึกอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าไม่ว่างจากสติ เมื่อมีสติก็มีตัวรู้ ไม่หลง ไม่ลืม ฟังดูง่ายแต่จริงๆแล้วยากเหลือเกินจริงไม๊ลองคิดดู แต่ถึงยากก็ต้องฝึก ต้องทน ต้องทำ ทำตัวให้รู้ตัว รู้ที่มา รู้ที่อยู่ รู้ที่ไปให้จงได้
ถ้ารู้ตัวไม่ทันมัวแต่ระเริงไฟอยู่ (ไฟตัณหา ไฟราคะ ไฟอุปทาน) ก็ไม่ต่างกับแมลงเม่าบินเข้ากองไฟเท่านั้นสุดท้ายตายเปล่า เกิดมากี่ชาติก็ตายเปล่าไร้สาระทุกชาติไป น่าเสียดายเสียชาติที่ได้เกิดเป็นคน การได้เกิดเป็นคนนั้นก็ยากแสนยากเสียด้วยไม่ได้ว่าจะได้เกิดมาเป็นคนกันทุกๆชาติหรอกนะ เอาไว้ตอนหน้าเราจะมาพบกันอีก ว่ารู้ตัวรู้อย่างไร รู้ตัวเพื่ออะไร และรู้จักตัวเมื่อไรรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น ตอนนี้เราทั้งหลายยังห่างไกลพระองค์เหลือเกิน มาเถิดมาเข้าเฝ้าพระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราด้วยกัน
รู้ตัว รู้ตน รู้กรรม รู้ธรรม รู้เวลา รู้ชะตา รู้ที่มา รู้ที่อยู่ รู้ที่ไป อย่างไรซะก็ดับเย็นได้เป็นที่สุด เมื่อสติมาปัญญาเกิด เมื่อรู้ตัวไม่ลืมตัวเมื่อนั้นหยุดเกิด ดับเย็นเป็นที่หวังได้.
เกษแก้ว ศรัทธาโพธิธรรม.